การสร้างบ้านนอกจากจะเน้นความครบครันของฟังก์ชันการใช้งานเพื่อการใช้ชีวิตอย่างราบรื่นของผู้พักอาศัยแล้ว การมีพื้นที่ส่วนกลางเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน หรือพักผ่อนหลบแดด ลม ฝนนอกตัวบ้านยังเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหลายคนอาจเลือกออกแบบสวนขนาดใหญ่รองรับไลฟ์สไตล์ของสมาชิกในครอบครัว และมีศาลาเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกิจกรรมต่างๆ
ความสำคัญของศาลานั่งเล่น
ศาลาเป็นทางเลือกที่ช่วยให้การนั่งเล่นชมสวนนั้นมีระยะเวลานานขึ้น เป็นมุมพักผ่อนนอกบ้านที่เหมาะกับการชมนกชมไม้ หรือเปลี่ยนบรรยากาศสู่ความสดชื่น โปร่ง โล่ง ทำให้ผู้อยู่อาศัยได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น พร้อมเสริมสุขภาพทั้งกายและใจให้แข็งแรงสดใส
ส่วนประกอบสำคัญของศาลานั่งเล่น
1. โครงสร้างของหลังคาศาลานั่งเล่น
หลังคามีความสำคัญในการช่วยคุ้มแดดคุ้มฝน ซึ่งจะมีโครงสร้างหลังคาอยู่ในส่วนที่สูงที่สุดของศาลา จึงไม่มีปัญหาเรื่องการรองรับน้ำหนัก แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือการยึดเกาะตัวหลังคากับโครงสร้างหลังคา ที่ต้องติดตั้งอย่างดีมีมาตรฐานเพื่อป้องกันการปลิวหลุด และการรั่วซึมในภายหลัง โดยโครงสร้างหลังคาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
- โครงหลังคา ทำหน้าที่รับน้ำหนักของวัสดุมุงหลังคา ซึ่งโครงหลังคาที่ดีนั้นจะต้องแข็งแรง คงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ และสามารถใช้งานได้ทนทานยาวนาน วัสดุที่ใช้ทำโครงหลังคามีทั้งแบบไม้และเหล็ก
- วัสดุมุงหลังคา ช่วยสร้างความสวยงามให้กับศาลาและสวน ปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับความชอบของเจ้าของบ้าน แต่การเลือกวัสดุมุงหลังคาที่เหมาะสมนั้นควรคำนึงถึงแบบศาลาที่ต้องเข้ากันกับแบบบ้าน ความสวยงาม ประโยชน์การใช้สอย น้ำหนัก และความคงทนถาวรในการกันแดดกันฝน
วัสดุมุงหลังคาที่นิยมนำมาสร้างศาลามีทั้งแบบกระเบื้อง โลหะหรือเหล็กรีด พลาสติกหรือไพเบอร์ แผ่นชิงเกิ้ล แผ่นทองแดงหรือแผ่นตะกั่ว แผ่นไม้ ไม้ซีดาร์ ผ้าใบ และหญ้าคา
2. พื้นศาลา
พื้นศาลาที่ดีและเหมาะสมกับการใช้งานในบริเวณศาลานั้นควรเป็นพื้นที่มีความแข็งแรงทนทาน ไร้รอยสะดุด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ โดยพื้นศาลามักถูกสร้างด้วยวัสดุหลายชนิด เช่น หินอ่อน เซรามิก อิฐมอญ ศิลาแลง พื้นขัดหิน พื้นปูนฝังกรวดหิน และหินทราย
3. ฐานรากศาลา
การทำฐานรากของศาลาอาจไม่ถึงขนาดที่ต้องมีมาตรฐานการรับน้ำหลักเท่าบ้าน แต่ก็ต้องมีความแข็งแรงพอที่จะรองรับน้ำหนักโดยรวม มีมาตรฐานการสร้างที่ปลอดภัย และไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลัง เช่น พื้นดินทรุดตัว หรือศาลาโยกเอียง โดยรูปแบบของฐานรากศาลามี 2 แบบคือ
- ฐานรากแบบแผ่ สามารถวางบนพื้นดินได้เลยโดยไม่ต้องมีเสาเข็มรองรับ เพราะมีการถ่ายน้ำหนักตัวศาลาลงพื้นดินได้โดยตรง รากฐานแบบนี้ใช้รองรับศาลาแบบโปร่ง น้ำหนักไม่มาก
- ฐานรากเข็ม มีความแข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักได้มาก เนื่องจากใช้แรงเสียดทานจากตัวเข็มกับชั้นดินช่วยรับน้ำหนัก จึงเหมาะกับศาลาขนาดใหญ่ หรือมีองค์ประกอบของศาลามากๆ
4. เฟอร์นิเจอร์ภายในศาลา
การเลือกเฟอร์นิเจอร์ใส่ในศาลาควรดูองค์ประกอบโดยรวม ซึ่งนอกจากความสวยงามที่เสริมให้ศาลาเหมาะกับเป็นมุมพักผ่อนนอกบ้านที่ดีแล้ว ควรคำนึงถึงความเหมาะสมลงตัวกับขนาดพื้นที่ศาลา และประโยชน์ใช้สอยที่สามารถใช้งานได้จริง เกิดประโยชน์สูงสุด
ข้อควรคำนึงเมื่อสร้างศาลานั่งเล่น
1. พื้นที่สำหรับสร้างศาลา
การสร้างศาลาสามารถออกแบบให้เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่ได้ขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้สอย โดยพื้นที่ที่เหมาะสมกับการสร้างศาลาควรมีความกว้างขวางพอสำหรับรองรับขนาดศาลาได้อย่างลงตัว และเสริมให้พื้นที่สวนสวยงาม
หากพื้นที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก อาจวางตำแหน่งศาลาให้อยู่มุมรั้วหรือริมกำแพง เพื่อเพิ่มมุมมองให้เห็นวิวได้อย่างกว้างขวาง แต่หากพื้นที่มีขนาดใหญ่มากก็สามารถวางตำแหน่งศาลาแบบลอยตัวให้มองเห็นวิวทิวทัศน์ได้แบบ 360 องศา
สำหรับบ้านใดที่มีพื้นที่สวนและมีต้นไม้ใหญ่ สามารถสร้างศาลาไว้ใต้ต้นไม้เพื่อเพิ่มความร่มรื่น หากมีบ่อน้ำก็สามารถสร้างศาลาไว้ริมน้ำหรือกลางน้ำได้ เพื่อทำให้บรรยากาศมีความพิเศษ มีความเย็นสบายพร้อมเสียงธรรมชาติจากสายน้ำ
2. ตำแหน่งที่ตั้งของศาลา
ลักษณะของศาลาส่วนใหญ่นิยมสร้างแบบเปิดโล่งทั้ง 4 ด้าน เพื่อเปิดรับบรรยากาศทุกทิศทาง แต่ก็ไม่ได้กำหนดไว้ตายตัวเสมอไป ซึ่งอาจมีการเปิด 3 ด้าน หรือ 2 ด้านก็ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่และการออกแบบตำแหน่งจัดวางศาลาเพื่อให้เห็นทัศนียภาพที่สวยงามของสวย ดังนั้นการจัดวางตำแหน่งศาลานอกจากคำนึงวิวทิวทัศน์แล้ว การคำนวนเรื่องทิศทางลม และแสงแดด จะช่วยให้ศาลานั้นเหมาะเป็นมุมพักผ่อนเพื่อผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง
การวางตำแหน่งของศาลามีผลต่อรูปแบบการจัดสวน ซึ่งควรเสริมให้ส่วนต่างๆ ของสวนมีความลงตัวขององค์ประกอบ ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งถูกบดบัง รวมทั้งในพื้นที่สวนที่มีขนาดใหญ่อาจวางศาลาเป็นจุดศูนย์กลางเพื่อเชื่อมต่อการใช้งานกับพื้นที่ส่วนต่างๆ ได้อย่างไม่สะดุด
3. ขนาดของศาลา
การสร้างศาลานั้นควรแจ้งสถาปนิกตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบบ้านว่าอยากให้มีศาลาเป็นองค์ประกอบสวนด้วย เพื่อการจัดวางตำแหน่งที่เหมาะสมและสมดุลกับพื้นที่ปลูกสร้างโดยรวมมากที่สุด และสอดคล้องกับตัวบ้าน
โดยการกำหนดขนาดของศาลา นอกจากขนาดที่สมดุลกับพื้นที่แล้ว ยังควรคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่ต้องสามารถช้งานได้จริง รองรับกิจกรรมของสมาชิกแต่ละช่วงเวลา โดยอาจออกแบบให้เกิดการใช้งานร่วมกันในพื้นที่เดียวกันได้
4. รูปแบบศาลา
ควรเลือกแบบของศาลาให้สอดคล้องกับสไตล์การออกแบบบ้านและสวน โดยแบบของศาลาที่เข้ากันกับพื้นที่โดยรอบจะช่วยเสริมให้บรรยากาศโดยรวมดีขึ้น เช่นบ้านสไตล์โมเดิร์นดูทันสมัย ควรออกแบบศาลาให้ดูทันสมัยเข้ากันกับแบบบ้าน หรือหากบ้านสไตล์ทรอปิคอล ควรจัดสวนในสไตล์บาหลี และเลือกใช้ศาลาที่มีทรงโปร่ง ใช้วัสดุธรรมชาติเพื่อให้ดูกลมกลืนไปกับธรรมชาติโดยรอบ
5. ค่าก่อสร้างศาลา
ศาลาถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมให้บ้านดูสวยงาม และมีเสน่ห์ มีความหลากหลายของพื้นที่ ดังนั้นการสร้างบ้านนอกจากคำนึงถึงงบประมาณเพื่อสร้างบ้านแล้ว ควรมีงบสำหรับการจัดตกแต่งสวนด้วย
โดยงบสำหรับก่อสร้างศาลามีหลากหลายราคาขึ้นอยู่กับรูปแบบ ขนาด และชนิดของวัสดุ เจ้าของบ้านสามารถตั้งงบประมาณขึ้นมา และแจ้งความต้องการพื้นฐานและความต้องการพิเศษที่อยากเพิ่มเติมในตัวศาลา เพื่อให้ทีมออกแบบนำเสนอแบบที่เหมาะสมได้
6. ลักษณะการใช้พื้นที่ศาลา
ศาลาถูกใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และลักษณะการใช้ประโยชน์จากศาลานั้นก็มีผลต่อการออกแบบ การวางตำแหน่ง และการกำหนดขนาดของศาลาด้วย เช่น หากเน้นการใช้งานเพื่อชมวิวทิวทัศน์ ศาลาอาจอยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นวิวสวนได้ดีที่สุด หรือหากให้ศาลาเป็นพื้นที่หลบความวุ่นวาย และเป็นมุมสงบเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ก็ควรเลือกแบบศาลาที่ไม่เปิดโล่งเกินไปและไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกรบกวนได้ง่าย
ศาลานั่งเล่นเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งที่ช่วยเสริมให้บ้านมีความสวยงาม เหมาะเป็นมุมพักผ่อนของสมาชิกในบ้าน ดังนั้นการสร้างศาลาที่ตอบสนองการใช้งานและความต้องการของผู้พักอาศัย ควรมีการวางแผนออกแบบตั้งแต่กระบวนการสร้างบ้านโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เกิดความสอดคล้องและเชื่อมต่อการใช้งานพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด