สร้างบ้านทั้งทีถ้าจะให้ดีต้องรู้ลึกรู้จริง เพราะนอกจากจะทำให้รู้และเข้าใจแบบที่สถาปนิกสร้างสรรค๋ และรายละเอียดปีกย่อยที่ช่าง หรือทีมสถาปนิกคุยกันแล้ว ยังทำให้เจ้าของบ้านรู้ความต้องการของตนเอง และบอกความต้องการได้ตรงจุด และตรงรูปแบบ อย่างการทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง เฉลียง ระเบียง และ ชาน ซึ่งแต่ละส่วนมีความแตกต่างกันด้านลักษณะการจัดวาง การสร้าง และการใช้งาน ไปดูกันว่าความต่างที่ว่านั้นเป็นอย่างไรบ้าง
เฉลียง ระเบียง ชาน ต่างกันอย่างไร?
ถือเป็นโจทย์สำคัญหนึ่งที่สร้างความสับสนให้คนเริ่มสร้างบ้าน ตั้งแต่ชื่อเรียก ตำแหน่ง และการใช้สอย สำหรับองค์ประกอบของบ้านทั้ง 3 ส่วนนี้
ระเบียง (Balcony)
เป็นองค์ประกอบที่มักเห็นได้ทั่วไปเกือบทุกบ้าน โดยเป็นพื้นที่ที่ยื่นออกมาจากตัวบ้านทั้งชั้นล่าง และชั้นบน พื้นระเบียงส่วนใหญ่จะอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นบ้าน เพื่อป้องกันการไหลย้อนของน้ำเมื่อฝนตก
ระเบียงจะมีพื้นที่ไม่มากนัก และมักจะมีการทำหลังคาหรือกันสาด เพื่อป้องกันแดด ฝน และมีราวกั้นกันตกเพื่อความปลอดภัยของผู้พักอาศัยเมื่อเข้ามาใช้งานพื้นที่ โดยสามารถใช้เป็นที่นั่งเล่นรับลม หรือพักผ่อนหย่อนใจได้
เฉลียง (Terrace)
เฉลียงคือส่วนหัวและส่วนท้ายของบ้าน ซึ่งมีไว้เพื่อเป็นทางเชื่อมกับพื้นที่ส่วนอื่นของบ้าน หรือไว้สำหรับนั่งพักผ่อนโดยทั่วไปเฉลียงมักถูกวางตำแหน่งให้ทางเข้าบ้านก่อนประตูหลัก จึงมักเรียกกันจนคุ้นหูว่า เฉลียงหน้าบ้าน
เฉลียงมีลักษณะคล้ายระเบียง คือมีหลังคากันสาดคลุมช่วยกันแดดกันฝนได้และมักสร้างให้มีพื้นที่ต่ำกว่าระดับบ้าน ส่วนที่ต่างจะระเบียงคือจะไม่มีราวกันตก
ชาน (Porch)
ชานเป็นพื้นที่เปิดโล่งนอกตัวบ้าน ไม่มีหลังคาคลุม บางคนอาจเรียกว่า นอกชานโดยเป็นพื้นที่ที่ใช้สำหรับเชื่อมต่อไปยังส่วนต่างๆ ของบ้าน ซึ่งหากต่อเนื่องมาจากเฉลียงหรือระเบียงจะมีระดับพื้นที่ต่ำกว่า
บริเวณชานนั้นจะมีลักษณะกว้างขวางกว่าเฉลียงและระเบียง สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้หลากหลาย สามารถวางโต๊ะเก้าอี้สำหรับรับประทานอาหาร หรือนั่งพักผ่อน รวมทั้งจัดเลี้ยงสังสรรค์กับสมาชิกได้
ด้วยตำแหน่งที่จัดวางที่แยกออกจากกันเพียงเล็กน้อยนั้น อาจทำให้หลายคนสับสนได้ แต่หากดูที่ความต่างของลักษณะ และฟังก์ชันการใช้งานเชื่อว่าหลายคนอาจได้ทำความเข้าใจมากขึ้น ทีนี้เมื่อเราสามารถแยกแยะความแตกต่างของแต่ละส่วนได้แล้ว จะช่วยให้การเลือกแบบบ้านและการก่อสร้างเป็นไปอย่างราบรื่น รวมทั้งยังสามารถใช้งานพื้นที่ต่างๆ ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างอีกด้วย