บ้านคือเซฟโซนแห่งชีวิต การสร้างบ้านให้เป็นที่พักผ่อนอย่างแท้จริง ย่อมต้องใช้ทั้งความตั้งใจในการออกแบบ ใส่ใจในรายละเอียด และเข้าใจในความต้องการ ซึ่งทั้งทีมสร้างและเจ้าของบ้านต่างต้องมีร่วมกัน เพื่อให้ได้บ้านที่ถูกสร้างมาเพื่อเจ้าของบ้านหลังนั้นโดยเฉพาะ แต่ปัญหาที่ตามมาคือเจ้าของบ้านอาจไม่มีเวลาคุมงานสร้าง แล้วจะทำอย่างไรให้ได้บ้านสวยตรงปก ไม่รื้อ ไม่ซ่อมในภายหลัง
เทคนิคสร้างบ้านดี แม้ไม่มีเวลาคุมงาน
1. เตรียมความพร้อมก่อนสร้างบ้าน
เจ้าของบ้านหลายคนมักเจอปัญหาการสร้างบ้านที่ไม่มีเวลาคุมงานอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน ดังนั้นสิ่งที่เจ้าของบ้านควรทำคือ เตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้านให้มากที่สุด
- ความพร้อมด้านความรู้ในการสร้างบ้าน เช่น ศึกษาศัพท์สร้างบ้าน เทคนิคอ่านแบบบ้าน ศึกษาขั้นตอนต่างๆ ของการสร้างบ้าน รวมถึงรุ้รายละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่ลักษณะงานของทีมงานที่ร่วมสร้างบ้านแต่ละตำแหน่ง
- ความพร้อมด้านงบประมาณ ควรจัดสรรงบประมาณสำหรับส่วนต่างๆ ของการสร้างบ้านไว้ให้พร้อมที่สุด และมีงบเผื่อสำหรับเหตุฉุกเฉินเพื่อให้งานสร้างไม่สะดุด และแบบบ้านไม่ถูกปรับ สเป็กวัสดุไม่ถูกลดคุณภาพ
- ความพร้อมด้านเทคโนโลยี เพื่อรองรับการส่งแบบบ้าน ข้อมูลเกี่ยวกับบ้าน และสรุปผลงานก่อสร้างในแต่ละงวด
- ความพร้อมด้านเอกสาร ควรจัดการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้านให้แล้วเสร็จในครั้งเดียว
2. เลือกใช้บริษัทรับสร้างบ้านมืออาชีพ
การเลือกบริษัทรับสร้างบ้านที่มีความน่าเชื่อถือ และมีประวัติผลงานที่ดีจะช่วยการันตีให้เจ้าของบ้านรู้สึกอุ่นใจและสบายใจในการมอบหน้าที่บริหารเงินก้อนใหญ่ให้ทางบริษัทฯ จัดการ
โดยบริษัทฯ จะให้บริการอย่างครบวงจร ช่วยให้เจ้าของบ้านต้องห่วงหน้าพะวงหลังหากไม่มีเวลาจัดการดูแลงานสร้างด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิด เพราะจะช่วยดำเนินการทุกขั้นตอน และมีแผนงานที่ชัดเจนคอยรายงานความคืบหน้าทุกขั้นตอน
นอกจากนี้บริษัทรับสร้างบ้านส่วนใหญ่ยังมีบริการเพิ่มเติม เช่น การตรวจสำรวจที่ดิน การติดต่อขออนุญาตก่อสร้าง การติดต่อขอน้ำ ไฟ และเลขที่บ้าน อีกทั้งยังช่วยแนะนำ และประสานงานกับทีมทำสวน หรือทีมออกแบบเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งอีกด้วย
3. เลือกทีมสถาปนิกและคนทำงานที่เชี่ยวชาญ
สถาปนิกคือผู้ที่รับการถ่ายทอดความต้องการจากเจ้าของบ้านโดยตรง เป็นผู้ทำงานใกล้ชิดกับเจ้าของบ้านมากที่สุด จึงเป็นเหมือนตัวแทนเจ้าของบ้านที่จะสามารถช่วยคุมงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบได้ รวมทั้งช่วยประสานและถ่ายทอดแบบกับทีมวิศวกร ทีมช่าง และคนทำงานอื่นๆ
ดังนั้นนอกจากสถาปนิกจะต้องมีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้องแล้ว ยังควรมีความเชี่ยวชาญ เข้าใจและใส่ใจความต้องการของเจ้าของบ้านแม้รายละเอียดเล็กน้อย แล้วนำข้อมูลไปออกแบบให้ตรงตามต้องการ พร้อมนำผ่านโมเดล หรือภาพแบบ 3 มิติ สามารถอธิบายรายละเอียดส่วนต่างๆ ให้ตรงหรือใกล้เคียงความจริงมากที่สุด จะช่วยให้เจ้าของบ้านเห็นปลายทางของบ้านที่จะเกิดขึ้นชัดเจนและเข้าใจตรงกัน
4. บอกความต้องการอย่างละเอียด
เพื่ออำนวยความสะดวกในการออกแบบ และลดเวลาที่จะเสียไปในการสื่อสารกันระหว่างเจ้าของบ้านกับสถาปนิก สำหรับการออกแบบนั้น เจ้าของบ้านควรเตรียมพร้อมเรื่องแนวทางแบบบ้านที่อยากได้ และพยายามบอกรายละเอียดความต้องการทุกอย่างให้มากที่สุด เพื่อให้สถาปนิกสามารถออกแบบได้ตรงตามที่ต้องการ
หากมีรายละเอียดพิเศษที่อยากเน้น เช่น ลักษณะช่วงวัยผู้พักอาศัย ลักษณะที่ดินที่ตั้งที่อาจมีบ่อน้ำ ธารน้ำ ต้นไม้ใหญ่ รวมถึงเรื่องฮวงจุ้ยต่างๆ
5. มีส่วนร่วมในการออกแบบ
การออกแบบบ้านอาจเป็นหน้าที่ของสถาปนิกโดยตรง แต่การสร้างชีวิตชีวาให้กับบ้านอาจต้องมาจากความร่วมมือของเจ้าของบ้านด้วย ดังนั้นในการออกแบบหากเจ้าของบ้านนำเสนอแนวความคิดที่อยากได้ จะเป็นเหมือนการให้ไลฟ์สไตล์ที่ชัดเจนแก่สถาปนิก ทำให้งานออกแบบนั้นออกมาไม่แข็งเกินไป
แม้เจ้าของบ้านจะไม่มีเวลามากนัก แต่ในขั้นตอนการเก็บข้อมูลเพื่อออกแบบ และการเลือกวัสดุในการก่อสร้าง หากเจ้าของบ้านให้ความร่วมมืออย่างดี ช่วยเลือก ช่วยนำเสนอความต้องการและไอเดีย ก็จะทำให้บ้านนั้นเต็มไปด้วยพื้นที่ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบายใจ และเต็มไปด้วยความภูมิใจ ลดขั้นตอนการแก้ไขแบบในภายหลัง
6. ทำทุกอย่างตามแบบ ทุกขั้นตอนงานต้องเดินหน้า
การสร้างบ้านควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และทุกคนที่เกี่ยวข้องควรยึดถือแบบเป็นแนวทางการก่อสร้าง โดยเฉพาะเจ้าของบ้านเองเมื่อตกลงเลือกแบบได้ตามต้องการแล้ว ควรให้ทีมงานดำเนินการตามขั้นตอนและตามแบบที่วางไว้ ไม่ควรสร้างไปเปลี่ยนแบบไป เพราะจะทำให้งานไม่เดินหน้า เสียทั้งเวลา เสียงบ และทีมงานไม่กล้าตัดสินใจใดๆ ในการก่อสร้าง
7. ติดตามงานสร้างเป็นระยะๆ
เมื่อเจ้าของบ้านไม่มีเวลาคุมงานสร้างอย่างใกล้ชิด อาจยกให้สถาปนิกเป็นตัวแทนในการคุมงานก่อสร้างเป็นหลัก แล้วคอยดูรายงานข้อมูลความคืบหน้าของการก่อสร้างเป็นระยะๆ หากมีการแก้ไขหรือได้งานไม่ตรงตามแบบควรรีบแจ้งแก่สถาปนิกเพื่อปรับแก้ไขได้ทันท่วงที
8. ให้ความเชื่อมั่นในสถาปนิก
แน่นอนว่าการสร้างบ้านสถาปนิกเป็นเหมือนตัวแทนเจ้าของบ้าน ดังนั้นเมื่อตัดสินใจมอบหมายให้สถาปนิกเป็นผู้คุมงานสร้างเป็นหลัก เจ้าของบ้านจึงควรมั่นใจและเชื่อมั่นในการทำงานและการตัดสินใจของสถาปนิก
แต่ก่อนความเชื่อมั่นนั้นจะเกิดขึ้น ก็ต้องย้อนกลับไปในขั้นตอนของการเลือกบริษัทรับสร้างบ้าน การเลือกสถาปนิกที่เชี่ยวชาญ และการให้รายละเอียดเกี่ยวกับความต้องการให้มากที่สุด ซึ่งขั้นตอนนั้นจะช่วยให้เจ้าของเห็นลักษณะการทำงานของสถาปนิกและสามารถตัดสินใจไว้ว่าจะเชื่อมั่นให้ดูแลงานแทนได้
การสร้างบ้านต้องทีความพร้อม และความเข้าใจซึ่งกันและกันทั้งฝั่งเจ้าของบ้านและทีมทำงาน ยิ่งกรณีที่เจ้าของบ้านไม่ได้มีเวลาในการควบคุมงานสร้างมากนัก การพูดคุยกันให้มากที่สุด ปรับจูนความคิดให้ตรงกัน จะช่วยให้ภาพสุดท้ายของงานสร้างนั้นตรงกัน และได้บ้านตรงปก ตอบรับการใช้ชีวิตได้อย่างดี