การสร้างบ้านสักหลังมีรายละเอียดและบุคคลที่เกี่ยวข้องมากมาย ดังนั้นการกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้งานสร้างนั้นเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และมีมาตรฐานตามเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้เพื่อยุติข้อพิพาทย์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง
มาตรฐานคืออะไร?
มาตรฐาน คือ สิ่งที่ถือเอาเป็นเกณฑ์สำหรับเทียบปริมาณและคุณภาพ โดยเกณฑ์ในมาตรฐานนั้นไม่ใช่ใครจะคิดอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นเกณฑ์ที่คนทั่วไปยอมรับ
ทำไมมาตรฐานจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ?
เนื่องจากการก่อสร้างบ้านจะมีเรื่องของงบประมาณที่ตกลงกันทั้งสองฝ่ายระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง ดังนั้นงบประมาณที่จ่ายไปจะต้องสัมพันธ์กับปริมาณงานและคุณภาพที่ตกลง เช่น การจ้างก่อสร้างบ้านราคา 10 ล้านบาท มาตรฐานที่วางไว้จะเป็นเกณฑ์ที่กำหนดว่างบประมาณ 10 ล้านบาทนี้ ปริมาณงาน ขอบเขตงาน และคุณภาพที่ตกลงยอมรับกันทั้งสองฝ่ายจะอยู่ที่ตรงไหน
6 มาตรฐานสำคัญที่การสร้างบ้านต้องมี
1. มาตรฐานตามกฎหมาย
การกำหนดมาตรฐานตามกฎหมายในการก่อสร้างบ้านมี 4 เรื่อง คือ
1.1 มาตรฐานตามกฎหมายผังเมือง
การสร้างบ้านไม่ใช่ว่ามีที่ดินแล้วจะสร้างอะไรก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องตามกฎหมายผังเมืองผังเมืองซึ่งจะกำหนดว่าพื้นที่ไหนสามารถสร้างอะไรได้บ้าง
ตัวอย่างเช่น ในกรุงเทพฯ จะแบ่งพื้นที่ออกเป็นสีต่างๆ ในพื้นที่แต่ละสีจะมีการกำหนดว่าก่อสร้างอะไรได้ ก่อสร้างอะไรไม่ได้ บางพื้นที่อาจจะสร้างบ้านได้อย่างเดียว บางพื้นที่ไม่สามารถสร้างโรงงานได้ บางพื้นที่กำหนดไว้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือบางพื้นที่อาจจะเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยหนาแน่น รวมถึงยังกำหนดเรื่องความสูงของอาคารไว้ด้วยว่าแต่ละพื้นที่นั้นสามารถสร้างอาคารสูงได้แค่ไหน
1.2 มาตรฐานตามกฎหมายควบคุมอาคาร
กฎหมายควบคุมอาคาร ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อควบคุมเรื่องความปลอดภัย และรายละเอียดปีกย่อยต่างๆ ของตัวอาคาร เช่น ระยะร่น ช่องเปิดหน้าต่าง บันไดหนีไฟ หรือพื้นที่ว่างปราศจากสิ่งปกคลุมต่างๆ หรือขนาดของส่วนต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของบ้าน ซึ่งจะถูกกำหนดให้มีขนาดและตำแหน่งการวางอย่างไรให้มีมาตรฐานและมีความปลอดภัย ดังนั้นการสร้างบ้านจึงต้องมีการยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร
1.3 มาตรฐานตามกฎหมายที่เกี่ยวกับสัญญา
การสร้างบ้านเองเป็นธุรกิจที่ถูกควบคุมโดยสัญญาที่เป็นข้อตกลงและยอมรับกันทั้งสองฝ่าย ระหว่างผู้ว่าจ้าง (เจ้าของบ้าน) กับผู้รับจ้าง (บริษัทรับสร้างบ้าน) โดยในสัญญาจะมีกำหนดว่าที่ต้องมีและไม่ต้องมี โดยจะมีรายละเอียดกำหนดไว้อย่างชัดเจน
1.4 มาตรฐานตามกฎหมายความปลอดภัย
ในการก่อสร้างอาคารจะต้องมีการควบคุมความปลอดภัย เพราะการก่อสร้างจะมีการใช้เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ที่อาจรบกวนพื้นที่ข้างเคียง เช่น เสียง หรือฝุ่นละออง เพราะฉะนั้นจึงต้องถูกควบคุมมาตรฐานต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายความปลอดภัยกำหนด
2. มาตรฐานการก่อสร้างที่คนทั่วไปและสากลยอมรับ
2.1 มาตรฐานตามวิศวกรรมสถาน
เป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของโครงสร้างต่างๆ โดยมีวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาคมที่รวบรวมมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น มาตรฐานเกี่ยวกับคอนกรีต เหล็กเสริมคอนกรีต ความแข็งแรงของโครงสร้าง
โดยถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานและมีความแข็งแรงปลอดภัยทั้งในระหว่างการก่อสร้างและหลังจากที่อยู่อาศัยไปแล้ว
2.2 มาตรฐานสมาคมสถาปนิกสยาม
ถือเป็นรายละเอียดปลีกย่อยของมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ โดยเป็นเรื่องของการใช้พื้นที่และการกำหนดความแข็งแรงของอาคาร ทำให้สามารถใช้งานอาคารนั้นได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย
2.3 มาตรฐานกรมโยธาธิการ
เป็นมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการก่อสร้าง ที่ใช้สำหรับการอ้างอิงเมื่อจะสร้างบ้าน เช่น การก่ออิฐต้องมีเสาเอ็นทับหลังทุกระยะกว้างเท่าไร สูงเท่าไร
3. มาตรฐานวิชาชีพ
ในการสร้างบ้านจำเป็นต้องมีนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้รับรองแบบที่ใช้ประกอบการขออนุญาตก่อสร้าง โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
3.1 มาตรฐานวิชาชีพสถาปนิก
สถาปนิกคือผู้ออกแบบอาคาร โดยมีรายละเอียดของพื้นที่ใช้สอย ประโยชน์การใช้สอย รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ของบ้านให้มีมาตรฐานและความปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ผู้พักอาศัยสามารถอยู่ได้อย่างปกติและมีความสุข
3.2 มาตรฐานวิชาชีพวิศวกรรม
เป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับออกแบบและควบคุมงานให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรมความแข็งแรง เช่นการคำนวณส่วนของการออกแบบโครงสร้าง ขนาดวัสดุ และรายละเอียดปลีกย่อยที่เกี่ยวกับโครงสร้างโดยรวมของบ้าน
4. มาตรฐานที่เป็นไปตามสัญญา
การก่อสร้างบ้าน นอกจากการควบควมมาตรฐานตามกฎหมายแล้ว ยังมีการควบคุมมาตรฐานตามสัญญาที่เป็นข้อตกลงระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง โดยมีรายละเอียดที่สามารถยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย แบ่งเป็นส่วนต่างๆ คือ
4.1 รูปแบบ
การก่อสร้างบ้านโดยมาตรฐานแล้วจะต้องมีแบบก่อสร้างเป็นแนวทางกำกับรูปแบบการสร้างในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับขอบเขตงาน และขั้นตอนการก่อสร้างส่วนต่างๆ เช่น ขนาดความสูงหน้าต่าง-ประตู ขนาดพื้นที่ใช้สอยส่วนกลาง
4.2 Spec
เป็นตัวกำหนดเกี่ยวกับวัสดุที่จะใช้ เช่น ชนิด ยี่ห้อ รุ่น ขนาด สี เพราะ Spec วัสดุที่แตกต่างกันมีผลต่อต้นทุนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ดังนั้นการกำหนด Spec จะทำให้การสร้างบ้านนั้นเป็นไปตามข้อตกลง หากผิดไปจากที่ตกลงไว้จะถือว่าไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสัญญา
4.3 รายการ
ในสัญญาการก่อสร้างนอกจากจะมีการกำหนดรูปแบบ และ Spec แล้ว จะต้องมีการกำหนดรายการก่อสร้าง ซึ่งเป็นตัวกำหนดรายละเอียดขั้นตอนต่างๆ ไว้อย่างละเอียดตั้งแต่ต้นจนจบของการดำเนินงานก่อสร้าง
5. มาตรฐานตามระดับของอุตสาหกรรม
มาตรฐานตามระดับของอุตสาหกรรมในธุรกิจรับสร้างบ้านนั้นไม่ได้มีข้อกำหนดที่ชัดเจน แต่จะเป็นไปตามความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลัก ไม่เหมือนกับมาตรฐานในธุรกิจอื่นๆ เช่น โรงแรม ซึ่งจะมีการแบ่งระดับดาวไว้ และมีรายละเอียดกำหนดเพื่อแบ่งเกณฑ์ของแต่ละระดับดาว
ทั้งนี้ในธุรกิจรับสร้างบ้าน นอกจากจะยึดตามความพึงพอใจของลูกค้าแล้ว ยังโยงไปถึงมาตรฐานของการให้บริการและระดับราคาค่าก่อสร้างที่แต่ละบริษัทมีแตกต่างกันไป
6. มาตรฐานที่เป็นไปตามวัสดุที่ใช้
การกำหนดสเปควัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างบ้าน วัสดุชนิดนั้นๆ จะมีรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับคุณสมบัติของวัสดุและข้อกำหนดวิธีการใช้ วิธีการติดตั้ง โดยมาการแบ่งเป็นมาตรฐานย่อยดังนี้ คือ
6.1 มาตรฐานของคุณภาพวัสดุ มอก.
(มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) เป็นมาตรฐานที่เป็นข้อกำหนดทางวิชาการ เพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ผลิตนำไปใช้ในควบคุมการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ในระดับที่เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด หากวัสดุนั้นๆ ผ่าน มอก. ก็ถือว่ามีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับได้
6.2 คุณสมบัติของวัสดุที่เหมาะสมกับประเภทงาน
เป็นมาตรฐานที่กำหนดว่าวัสดุชนิดไหน ใช้อย่างไร และใช้กับงานแบบไหน เช่น การกำหนดวัสดุสำหรับใช้งานภายในบ้าน แต่หากมีการนำไปใช้ภายนอก จะถือว่าผิดวัถุประสงค์การใช้งาน และไม่ได้มาตรฐานตามคุณสมบัติของวัสดุนั้นๆ
6.3 มาตรฐานการติดตั้งของวัสดุ
โดยในการผลิตวัสดุชนิดต่างๆ ออกมานั้นทางผู้ผลิตจะมีการทดสอบความสามารถในการใช้งาน เช่น การรองรับกำลังอัด หรือการทนความชื้น โดยจะมีการกำหนดคุณสมบัติวัสดุ การใช้ และวิธีการติดตั้งไว้อย่างชัดเจน
การสร้างบ้านนั้นมีเรื่องที่เกี่ยวข้องในส่วนต่างๆ มากมาย หากผู้เป็นเจ้าของบ้านศึกษาข้อมูลไว้อย่างดี จะทำให้เข้าใจในขั้นตอน และพูดคุยกับคนทำงานส่วนต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เข้าใจตรงกัน โดยมีมาตรฐานต่างๆ ข้างต้นเป็นแนวทางการก่อสร้าง และข้อกำหนด เพื่อให้บ้านที่สร้างนั้นมีมาตรฐาน เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยอย่างปลอดภัย
เรื่องโดย : คุณธีร์ บุญวาสนา ผู้บริหาร บริษัทอยุธยา สร้างบ้าน จำกัด