ห้องครัว คือหนึ่งพื้นที่สำคัญของบ้าน นอกจากจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแล้ว ยังเป็นพื้นที่สานสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกให้มีเวลาดีๆ ร่วมกัน การวางตำแหน่งครัวให้น่าใช้และเหมาะสมกับการใช้งาน จึงขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของบ้านไลฟ์สไตล์ผู้พักอาศัย และการเชื่อมต่อฟังก์ชันการใช้งานกับส่วนอื่นๆ ที่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุด
8 เทคนิคสร้างครัวน่าใช้
1. เลือกแบบครัวให้เหมาะกับขนาดพื้นที่และแบบบ้าน
การออกแบบครัวนอกจากจะคำนึงถึงความสวยงามที่ล้อไปกับแบบบ้านอย่างลงตัวแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องเป็นครัวที่สามารถใช้งานได้จริง คุ้มค่ากับเงินที่สูญเสียไป เพื่อให้สมาชิกทุกคนมีความสุข สนุกกับการเข้าครัวทุกๆ วัน
2. วางตำแหน่งครัวให้เหมาะกับทิศทางแสง-ลม
แสงส่งผลดีต่อพื้นที่ครัว เพราะช่วยในการไล่ความชื้น ฆ่าเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณอ่างล้างจาน ส่วนลมช่วยถ่ายเทอากาศ ระบายกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกจากพื้นที่ ทำให้ห้องครัวเย็นสบาย และให้ความรู้สึกโปร่ง โล่ง น่าใช้สอย
- ทิศเหนือ สามารถรับแสงได้ตลอดทั้งวัน แต่ไม่ทำให้ภายในร้อนจนเกินไป เพราะไม่ใช่ตำแหน่งมุมที่รับแสงโดยตรงจากดวงอาทิตย์
- ทิศใต้ เป็นมุมที่แสงมักส่องถึงห้องครัวในช่วงฤดูหนาว และให้แสงที่พอเหมาะพอดีในช่วงฤดูร้อน การวางครัวในตำแหน่งทิศทางนี้ต้องระวังเรื่องลมประจำที่พัดผ่าน อาจทำให้กลิ่นจากห้องครัวโชยไปยังห้องอื่นๆ ได้ ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการแยกห้องครัวให้เป็นห้องปิด และใช้เครื่องดูดควันช่วย
- ทิศตะวันออก ห้องครัวที่อยู่ในตำแหน่งทิศทางนี้จะได้รับเเสงสว่างและความร้อนช่วงพระอาทิตย์ขึ้น ส่วนช่วงบ่ายจะไม่ได้รับแสง
- ทิศตะวันตก ห้องครัวในมุมนี้จะได้รับแสงแดดช่วงบ่ายจนถึงเย็น ทำให้ไม่สะดวกเท่าไรในการประกอบอาหารในช่วงเวลาที่รขับแสงโดยตรง เพราะทำให้เกิดความร้อน การแก้ไขอาจใช้มู่ลี่ปรับแสง หรือปลูกต้นไม้ช่วยบังแดดบางส่วน
3. จัดตำแหน่งฟังก์ชันให้สัมพันธ์กับขั้นตอนการใช้งาน
การใช้งานในพื้นที่ครัวส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการประกอบอาหาร โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนนี้คือ
- พื้นที่เก็บ ได้แก่ส่วนเก็บอุปกรณ์เครื่องครัว ของแห้ง ตู้เย็น ตู้เค้าเตอร์ และชั้นลอย
- พื้นที่เตรียมอาหารและปรุง เป็นพื้นที่ที่ใช้ในการประกอบอาหาร มีเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ และเตาแก๊ส ซึ่งโซนนี้ไม่ควรมีสิ่งกีดขวางใดๆ เพื่อความปลอดภัยระหว่างทำอาหาร
- พื้นที่ล้าง เป็นพื้นที่ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องครัวหลังใช้งานเสร็จ หรือทำความสะอาดของสดเมื่อนำออกจากตู้เย็น ดังนั้นพื้นที่นี้ควรเชื่อมต่อกับพื้นที่เก็บ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการใช้งาน เช่น ล้างอุปกรณ์ครัวเสร็จ สามารถเก็บเข้าตู้ได้เลย
ดังนั้นการออกแบบตำแหน่งของพื้นที่ทั้ง 3 ส่วนนี้จึงเป็นรูปแบบสามเหลี่ยม คือเมื่อเดินเข้าห้องครัวมา เริ่มต้นที่พื้นที่เก็บ เพื่อนำอุปกรณ์ ของสดของแห้งต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำอาหาร มาสู่พื้นที่เตรียมและปรุง จากนั้นจบที่พื้นที่ล้าง และวนไปที่พื้นที่เก็บเพื่อจัดเก็บอุปกรณ์
4. ออกแบบขนาดครัวให้เหมาะสมกับจำนวนสมาชิก
บ้านที่มีสมาชิกพักอาศัยเพียง 2-3 คน อาจเลือกแบบครัวและจัดสรรขนาดพื้นที่แบบกะทัดรัดที่สามารถใช้งานได้อย่างครบครัน ส่วนครอบครัวที่มีสมาชิกมากกว่า 3 คน แน่นอนว่าอาจมีการใช้พื้นที่ครัวร่วมกัน ดังนั้นการออกแบบพื้นที่ควรเน้นให้มีขนาดกว้างขวางพอที่จะไม่ทำให้ระหว่างใช้งานรู้สึกอึดอัด หรือมีอันตรายเมื่อคนเยอะ พร้อมทั้งต้องมีฟังก์ชันการใช้งานที่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกเพลิดเพลิน เกิดความสะดวกในการหยิบจับอุปกรณ์ต่างๆ
5. เลือกแบบครัวที่โล่ง โปร่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก
การออกแบบครัวโดยเน้นความโล่ง โปร่ง และมีช่องระบายที่อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก มีแสงและลมเข้าถึงพื้นที่ จะช่วยลดความชื้น ระบายกลิ่นอับ ลดโอกาสการหมักหมมของเชื้อโรค ถือเป็นสร้างสุขลักษณะอนามัยที่ดีต่อผู้พักอาศัย ทำให้การใช้งานในพื้นที่ครัวเป็นมิตรต่อทั้งคนและอาหาร
6. เลือกเฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดสัมพันธ์กับลักษณะร่างกายของผู้ใช้
โดยการออกแบบครัว ควรตอบสนองความต้องการใช้งานได้อย่างสะดวก เช่น ความกว้างของครัว ต้องรองรับทั้งผู้ใช้งานที่มีขนาดตัวผอม หรืออ้วน ให้ได้ใช้งานได้สะดวก ไม่รู้สึกอึดอัด หรือขนาดความสูงของตู้ลอย หรือซิงค์ล้างจาน ควรมีความสูงที่พอดีกับส่วนสูงเฉลี่ยของผู้ใช้งาน ให้สามารถหยิบจับ หรือล้างจานได้อย่างพอดี ไม่ทำให้รู้สึกเมื่อย หรือเอื้อมมือหยิบจับของไม่ถึง ตัวอย่างขนาดของส่วนต่างๆ เช่น
- เคาน์เตอร์ครัว เกี๋ยวข้องกับการใช้งานทั้งการเก็บและเตรียม ควรมีความลึกประมาณ 60 เซนติเมตร และมีความสูงจากพื้นถึงท็อปเคาน์เตอร์ประมาณ 90 – 105 เซนติเมตร
- ตู้ลอย หรือชั้นวางของแขวนผนัง ควรมีความสูงจากท็อปเคาน์เตอร์ครัวประมาณ 40 – 70 เซนติเมตร และมีความลึกประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร เพื่อป้องกันศีรษะชนเมื่อใช้งาน
- เตาแก๊สหรือเตาไฟฟ้า ควรมีความสูงเท่ากับท็อปเคาน์เตอร์ครัว แต่ไม่ควรกว้างเกิน 1 เมตร
- เครื่องดูดควัน ควรอยู่ในระดับความสูงจากเตาประมาณ 50 – 70 เซนติเมตร
การสร้างครัวให้สวยงามเป็นเรื่องง่าย แต่การสร้างครัวให้น่าใช้งาน ตอบรับความต้องการใช้สอยอย่างครบครัน สร้างความคล่องตัวและปลอดภัยต่อผู้ใช้ และที่สำคัญคือถูกสุขลักษณะ เป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของบ้านควรให้ความสำคัญ และควรเลือกผู้ออกแบบที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้พื้นีท่ครัวนั้นเป็นส่วนสำคัญของบ้านที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้อยู่อาศัยได้อย่างสูงสุด