การสร้างบ้านที่ใช้เทคนิคผสมผสานแบบไทยและแบบสมัยใหม่ให้ลงตัวนั้น ต้องคำนึงถึงความเข้ากันของฟังก์ชันการใช้งานกับแบบบ้านที่รองรับ ซึ่งส่วนต่างๆ ของบ้านไทยอาจถูกนำไปผสมผสานในการออกแบบบ้านให้มีดีไซน์ที่ทันสมัยมากขึ้น ดังนั้นมาดูกันว่าเคล็ดลับการผสมผสานทั้งแบบไทย-ฝรั่งเข้าด้วยกันนั้นมีอะไรที่น่าสนใจ เหมาะกับส่วนใดของบ้าน และมีประโยชน์ต่อการอยู่อาศัยมากน้อยเพียงใด
สร้างบ้านผสมผสานดีไซน์ไทย-ฝรั่ง อย่างลงตัว
1. เลือกหลังคาทรงสูงระบายความร้อน
หลังคาถือเป็นส่วนที่รับความร้อนจากดวงอาทิตย์โดยตรง ช่วยลดทอนความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวบ้าน ดังนั้นการสร้างหลังคาจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยหลักๆ คือ ลดทอนความร้อน ไม่ดูดซับและสะสมความร้อน และช่วยระบายความร้อนออกจากตัวบ้าน
หลังคาแบบไทยที่มักถูกนำมาใช้คือกลุ่มหลังคาทรงสูง เช่น หลังคาทรงหน้าจั่ว หลังคาทรงปั้นหยา และหลังคาทรงมะนิลา ซึ่งนอกจากจะมีความเป็นเอกลักษณ์แบบไทยแล้วยังมีคุณสมบัติระบายอากาศและถ่ายเทความร้อนได้อย่างดี
2. ออกแบบชายคายื่นออกเพื่อบังแดดบังฝน
การสร้างบ้านโดยออกแบบให้มีชายคาที่ยื่นออกไปจากตัวบ้าน เป็นภูมิปัญญาไทยที่มีมานาน เพื่อประโยชน์ในการป้องกันแสงแดดและป้องกันความร้อนที่เข้ามาปะทะตัวบ้าน
การสร้างหลังคาให้ยื่นยาวออกไปนั้น ควรเน้นทิศใต้และทิศตะวันตก เพื่อป้องกันความร้อนยามบ่าย ไม่ให้แสดงแดดเข้ามารบกวนการอยู่อาศัยของสมาชิกในบ้าน
3. สร้างตัวบ้านยกสูงมีพื้นที่ใต้ถุน
บ้านใต้ถุนสูงเป็นภูมิปัญญาไทยที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานตามกาละเวลา เช่น ช่วงหน้าฝนหากเกิดน้ำท่วมสมาชิกก็ยังสามารถใช้ชีวิตบนบ้านได้อย่างปกติ หรือเมื่อน้ำลดใต้ถุนบ้านจะถูกใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนและทำกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้ใต้ถุนบ้านยังมีคุณสมบัติช่วยระบายอากาศและความชื้นภายในตัวบ้านด้วย
4. มีช่องเปิดรับลมเย็น ระบายความร้อน
ช่องเปิด คือส่วนของอาคารที่น้ำ อากาศ แสง หรือสิ่งของต่างๆ สามารถผ่านได้โดยตรง เช่น หน้าต่าง ประตู ช่องระบายอากาศ ช่องแสง โดยช่องเปิดจะเชื่อมโยงกับธรรมชาติภายนอกบ้าน ดังนั้นการวางตำแหน่งช่องเปิดในแบบบ้านควรมีการคำนวนโดยคำนึงถึงการรับลมเข้าและระบายออกได้อย่างดี
5. ชานบ้านตอบรับการพักผ่อนหย่อนใจ
ชานบ้านเป็นพื้นที่เปิดโล่งนอกตัวบ้าน ไม่มีหลังคาคลุม ถูกใช้เป็นส่วนเชื่อมต่อไปยังส่วนอื่นๆ ของบ้าน รวมทั้งยังใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนได้อย่างดี
บ้านสมัยใหม่ที่ใช้หลักการสร้างแบบไทยจะออกแบบแยกตัวบ้านออกจากกัน แล้วใช้ชานบ้านในการเชื่อมพื้นที่ รวมทั้งยังสามารถช่วยดักลมและช่วยระบายความร้อนออกจากบ้านได้ด้วย
6. ช่องลม ลดความร้อน ระบายอากาศ
ช่องลมเป็นส่วนเสร้มใช้ลดความร้อนภายในบ้านพร้อมระบายอากาศหุถ่ายเทได้ดี โดยช่องลมสามารถวางตำแหน่งในส่วนต่างๆ ของบ้าน เช่น ช่องลมใต้หลังคา สามารถช่วยระบายความร้อนที่สะสมอยู่ใต้หลังคาออกจากตัวบ้าน ทำให้อุณหภูมิในบ้านเย็นขึ้น ช่องลมเหนือประตูและหน้าต่าง เหมาะกับบ้านที่มีฝ้าเพดานสูง ซึ่งจะช่วยระบายอากาศให้ถ่ายเทได้ดี และทำให้บ้านดูโปร่งอีกด้วย
7. ช่องแมวลอด ยกพื้นต่างระดับสร้างอากาศไหลเวียน
ช่องแมวลอด คือช่องว่างระหว่างพื้นที่ยกระดับแตกต่างกัน โดยจะมีความสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร ประโยชน์ของช่องแมวลอดจะช่วยทำให้ลมพัดผ่านจากใต้ถุนขึ้นสู่ตัวบ้าน ขณะเดียวกันก็ทำให้อากาศภายในบ้านไหลเวียนผ่านช่องนี้ถ่ายเทสู่ภายนอก จึงช่วยระบายความร้อน และความชื้นในตัวบ้านได้เป็นอย่าง
บ้านที่ดีคือบ้านที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้พักอาศัย ซึ่งเจ้าของบ้านหลายคนอาจชื่นชอบแนวคิดการออกแบบฟังก์ชันเพื่อใช้งานได้จริง เข้ากับสภาพพื้นที่และสภาพอากาศของบ้านไทย แต่หลงใหลดีไซน์ตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ดังนั้นการสร้างบ้านแบบผสมผสานระหว่างไทย-ฝรั่งนี้ จึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบและการก่อสร้าง เพื่อให้ได้บ้านที่หลอมรวมดีไซน์และฟังก์ชันการใช้งานได้อย่างลงตัว ตอบโจทย์การอยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืน