เพราะบ้าน ไม่ใช่เพียงสิ่งก่อสร้างที่ไร้ชีวิต แต่บ้านคือพื้นที่แห่งชีวิตที่สามารถซึมซับและสะท้อนตัวตนของผู้อยู่อาศัยได้ ดังนั้นการสร้างบ้านอยู่เอง แม้เจ้าของบ้านจะเลือกใช้บริษัทรับสร้างบ้านที่มีความเป็นมืออาชีพ สามารถวางใจและมั่นใจในผลงานได้เต็มที่ แต่การสร้างบ้านก็ยังมีเรื่องที่เจ้าของบ้านต้องรู้ และควรเตรียมพร้อมก่อนตัดสินใจ รวมทั้งมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนการสร้าง เพื่อให้บ้านหลังนั้นเป็นผลสำเร็จของความต้องการของเจ้าของบ้านอย่างแท้จริง
เตรียมพร้อมอย่างไร เมื่อจะตัดสินใจสร้างบ้าน
1. สำรวจทำเลที่ตั้ง เตรียมพร้อมที่ดินก่อนปลูกสร้าง
สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างบ้าน และยังไม่มีที่ดิน การเลือกทำเลที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย และปลอดภัย ควรเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่เจ้าของบ้านต้องให้ความสำคัญ และศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ
หรือหากใครมีที่ดินอยู่แล้ว การเตรียมพร้อมที่ดินก่อนปลูกสร้างก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะบางพื้นที่อาจต้องปรับหน้าดิน เสริมดิน หรือเคลียร์พื้นที่ให้สะดวกกับการสร้างบ้านหลังใหม่
นอกจากนี้ควรสำรวจสภาพแวดล้อมโดยรอบและโดยรวมของพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการวางแผนออกแบบบ้านที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยในระยะยาวอย่างมีความสุข
2. รู้ทิศทางแดด ลม ในพื้นที่สร้างบ้าน
เรื่องทิศทางแดดลมในพื้นที่ที่จะก่อสร้างบ้าน แม้จะไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าของบ้านโดยตรงในขั้นตอนการออกแบบ แต่อาจมีส่วนสำคัญในการคุยแบบกับสถาปนิก เรื่องวางตำแหน่งมุมห้องต่างๆ รวมทั้งยังมีผลดีกับเจ้าของบ้านที่กำลังมองหาที่ดินสร้างบ้าน เพราะจะทำให้รู้ว่าที่ดินที่ซื้อนั้นหากจะสร้างบ้านลงไปจะต้องวางแปลนไว้อย่างไร
การรู้ตำแหน่งทิศทางแสงลม นอกจากจะช่วยให้วางตำแหน่งห้องได้ถูกทิศแล้ว ยังช่วยเรื่องการประหยัดพลังงานอีกด้วย โดยทิศทางแสงแดดจะเคลื่อนจากทิศตะวันออกไปทางทิศใต้แล้วสิ้นสุดในทิศตะวันตก จึงเหมาะกับห้องที่ผู้อยู่อาศัยไม่ได้ใช้พื้นที่ตลอดเวลา หรือห้องที่ต้องการแสงแดดในการลดความชื้น เช่น ห้องครัว ห้องน้ำ ห้องซักล้าง ส่วนทิศทางลม หากจะวางตำแหน่งบ้านให้สัมพันธ์กับทิศทางลมนั้น ควรหันด้านยาวของตัวบ้านเข้าหาลม เพื่อให้มีพื้นที่รับลมธรรมชาติเข้าบ้าน และช่วยระบายความร้อนจากภายในได้ด้วย
3. รู้ขนาดที่ดินและพื้นที่ใช้สอยที่ชัดเจน
ขนาดของที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกแบบบ้านและการออกแบบพื้นที่ใช้งานแต่ละส่วนของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องครัว หรือแม้แต่การออกแบบพื้นที่เพื่อผู้สูงอายุ ดังนั้นก่อนสร้างบ้าน เจ้าของบ้านควรนำขนาดที่ดินปรึกษาทีมสถาปนิกเพื่อกำหนดพื้นที่ใช้สอยได้ตรงตามความต้องการ และครบคลุมการใช้งานในพื้นที่อย่างลงตัว
นอกจากนี้การออกแบบบ้านหากเป็นไปได้ควรทำในครั้งเดียวจบ ไม่ควรต่อโน่นเติมนี่ในภายหลัง จะช่วยให้การออกแบบพื้นที่ใช้งานเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างไม่สะดุด
4. งบประมาณที่ใช้ในการสร้างบ้าน
แน่นอนว่าก่อนคิดสร้างบ้าน เจ้าของบ้านควรมีงบประมาณที่ตั้งไว้ โดยหากเลือกสร้างบ้านด้วยบริการจากบริษัทรับสร้างบ้าน จะยิ่งช่วยให้เจ้าของบ้านเห็นค่าใช้จ่ายในภาพรวมทั้งหมด และรู้ว่าควรเลือกสร้างบ้านแบบไหน ใช้วัสดุอะไร ซึ่งง่ายต่อการบริหารจัดการงบ
5. สำรวจไลฟ์สไตล์ ความต้องการและจำนวนสมาชิก
การสร้างบ้านตามใจผู้อยู่ ยังเป็นประโยคอมตะ ที่ใช้ได้เสมอมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นก่อนสร้างบ้าน การรู้จำนวนสมาชิกที่จะเข้าอยู่อาศัย ลักษณะเพศ อายุ และความต้องการพื้นฐานทางฟังก์ชันการใช้งาน เพราะข้อมูลเหล่านี้มีผลต่อการออกแบบบ้านที่รองรับทุกไลฟ์สไตล์ เช่น จำนวนชั้น การจัดสรรพื้นที่ใช้สอย การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ หรือการเพิ่มฟังก์ชันสำหรับผู้สูงอายุ
6. มีความรู้พื้นฐานและศึกษาทำความเข้าใจแบบบ้าน
แบบบ้านเป็นเหมือนหัวใจหลักในการก่อสร้างบ้าน ขณะเดียวกันเจ้าของบ้านก็มีความสำคัญในการกำหนดทิศทางแบบบ้านให้ลงตัวพร้อมสำหรับการก่อสร้าง ดังนั้นหากเจ้าของบ้านให้เวลาในการศึกษาทำความเข้าใจ และมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับแบบบ้าน รู้ส่วนประกอบต่างๆ ของบ้านตั้งแต่ต้น จะช่วยให้การสื่อสารกับทีมทำงานไม่ว่าจะสถาปนิก วิศวกร หรือทีมช่างเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะเหมือนได้พูดคุยภาษาเดียวกัน ทั้งยังให้แบบบ้านนั้นไม่ถูกปรับแก้ไขไปมาและมีบทสรุปที่รวดเร็ว
7. รู้เรื่องเอกสารและขั้นตอนการขออนุญาตปลูกสร้างบ้าน
การสร้างบ้านขึ้นมาสักหลัก จะต้องมีการดำเนินการเพื่อขออนุญาตก่อสร้างอาคาร โดยแจ้งเรื่องกับสำนักงานเขตท้องถิ่นในพื้นที่ที่กำลังจะสร้างบ้าน ซึ่งไม่ว่าเจ้าของบ้านจะดำเนินการขออนุญาตเอง หรือใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านที่มีบริการครบวงจรก็ตาม แต่อย่างน้อยเจ้าของบ้านจะต้องเตรียมพร้อมด้านเอกสารสำคัญต่างๆ โดยเอกสารที่ต้องใช้คือ
• เอกสารคำขออนุญาตดำเนินการก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคารหรือรื้อถอนอาคาร (ข.1)
• แบบแปลนแผนผังของบ้านที่จะสร้าง
• หนังสือรับรองผู้ออกแบบ สถาปนิก วิศวกร พร้อมสำเนาใบอนุญาต
• สำเนาโฉนดที่ดินที่จะก่อสร้าง
• สำเนาบัตรประชาชน หรือทะเบียนบ้านเจ้าของอาคาร
การสร้างบ้านอย่างมีขั้นตอน มีแบบแผนที่ชัดเจน นอกจากจะช่วยให้งานก่อสร้างมีความคืบหน้าไปอย่างรวดเร็วแล้ว ยังช่วยลดโอกาสความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้ และแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะเจ้าของบ้านได้ทำการบ้านมาพอสมควร รู้และเข้าใจขั้นตอนงานก่อสร้าง พร้อมทั้งสามารถเข้าใจแบบบ้านได้ และพูดคุยกับทีมงานอย่างรู้เรื่อง เข้าใจตรงกัน