การตรวจรับบ้าน ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตรวจผลงานสร้างบ้าน และรายละเอียดต่างๆ ของงานสร้างบ้าน ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่เจ้าของบ้านควรให้ความสำคัญอย่างละเอียดก่อนลงนามรับบ้าน ซึ่งโดยทั่วไปหากเจ้าของบ้านเลือกบริษัทรับสร้างบ้าน ก็จะได้เห็นผลงานและตรวจงานสร้างตามลำดับขั้นตอนอยู่แล้ว จนเมื่อบ้านสร้างเสร็จสิ่งที่ต้องตรวจคือรายละเอียดตัวบ้านทั้งหลัง ฟังก์ชันการใช้งานส่วนต่างๆ รวมถึงระบบสาธารณูปโภค
ดังนั้นมาดูกันว่าก่อนตรวจรับบ้านนั้น เจ้าของบ้านควรเตรียมพร้อม และเตรียมตัวอย่างไร เพื่อให้ไม่พลาดและได้บ้านที่มีคุณภาพมาตรฐาน
เตรียมตัวก่อนตรวจรับบ้าน
การตรวจรับบ้านอาจใช้เวลานาน เพราะต้องลงรายละเอียดในทุกๆ ส่วน ดังนั้นควรนัดเวลาตรวจรับเป็นช่วงเช้า และเจ้าของบ้านควรเตรียมพร้อมด้านการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการตรวจรับบ้าน จุดไหนควรเน้นเป็นพิเศษ หรือต้องให้เวลาให้ความสำคัญ รวมทั้งควรเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการตรวจรับ
ทั้งนี้เจ้าของบ้านอาจเลือกใช้ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจรับบ้านแทนในเรื่องรายละเอียดทางเทคนิคต่างๆ พร้อมๆ กับที่เจ้าของบ้านคอยดูในภาพรวม เพื่อให้ได้คุณภาพมากที่สุด
10 Checklists เพื่อตรวจรับบ้านอย่างมีมาตรฐาน
1. งานนอกบ้าน
เป็นการตรวจสอบพื้นที่ส่วนของรั้ว ประตูรั้ว ดินถมรอบบ้าน สวน ระบบสระน้ำ ที่จอดรถ ทางเดินนอกบ้าน และ การระบายน้ำ โดยตรวจสอบความแข็งแรงของงานก่อสร้างทั้งหมด รวมถึงระบบต่างๆ ที่ต้องใช้งานได้อย่างดี
2. งานโครงสร้าง
เป็นการตรวจสอบส่วนของเสา คาน ผนัง หรือส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอาคาร ซึ่งสำหรับการสร้างบ้านเอง ส่วนนี้จะถูกตรวจสอบตั้งแต่ในขั้นตอนของการสร้างที่มีการกำหนดไว้ตามแผนงานของบริษัทรับสร้างบ้านอยู่แล้ว ดังนั้นการตรวจสอบในขั้นตอนตรวจรับบ้าน อาจเป็นการตรวจในเรื่องของความเรียบร้อยของงาน การเชื่อมต่อของโครงสร้างกับส่วนต่างๆ และความปลอดภัยของโครงสร้างทั้งหมด
3. งานพื้น
เป็นการตรวจสอบโครงสร้างพื้น ความเรียบร้อยของการปูวัสดุพื้น และการเลือกใช้วัสดุให้ถูกต้องตามที่กำหนด โดยการตรวจโครงสร้างพื้นต้องตรวจสอบด้วยการเคาะหรือการทดลองเดินให้ทั่วว่าปูนใต้วัสดุปูพื้นมีความแน่นดีพอตามมาตรฐาน หรือมีลักษณะเป็นโพรงหรือไม่
4. งานผนัง
การตรวจสอบการฉาบผนัง วัสดุปูผนัง และบัวเชิง โดยผนังปูนต้องฉาบได้เรียบสม่ำเสมอ ไม่มีรอยร้าว และไม่มีส่วนใดปูดหรือเป็นหลุม โดยใช้ไม้ยาววางทาบเพื่อดูระนาบ
5. งานประตูหน้าต่าง
การตรวจสอบการติดตั้งวงกบประตูและหน้าต่าง โดยวงกบต้องแนบชิดติดกับผนัง ไม่มีรอยบิ่น มีการทำบังใบเรียบร้อย เมื่อปิดประตูหน้าต่างแล้วต้องแนบสนิทไม่มีช่องโหว่งหรือไม่พอดีขอบ
6. งานบันได
การตรวจสอบวัสดุปูพื้นทำขั้นบันได และการติดตั้งราวบันได โดยบันไดแต่ละขั้นต้องมีขนาดเท่ากันเป็นมาตรฐาน มีการเก็บงานเรียบร้อย วัสดุที่นำมาใช้เป็นขั้นบันไดควรเป็นวัสดุที่ไม่ลื่น หรือมีการติดตั้งจมูกบันได
ส่วนการติดตั้งราวบันได ต้องมีการติดตั้งที่ความสูงถูกต้องตามมาตรฐาน สามารถจับยึดเหนี่ยวได้ถนัดมือ ติดตั้งได้อย่างแน่นหนา ไม่โยกไปมา
7. งานฝ้าเพดาน
ฝ้าเพดานมีหลายประเภท เช่น หากเป็นฝ้าเพดานทีบาร์ เส้นทีบาร์ต้องเรียบสม่ำเสมอ รอยเชื่อมต่อกันจะต้องไม่ทีการเกยกัน แผ่นกระเบื้องซีเมนต์ที่ใส่ในช่องต้องมีขนาดเท่ากัน เมื่อวางเรียงแล้วต้องไม่มีช่องว่างระหว่างแผ่นกับเส้นทีบาร์
ถ้าเป็นฝ้าเพดานแบบยิบซัมบอร์ดฉาบเรียบ บริเวณรอยต่อของแผ่นต้องมองไม่เห็นรอยยาแนว และควรมีความเรียบเสมอไปกับฝ้าเพดานส่วนอื่นๆ
8. งานหลังคา
ตรวจสอบการปูกระเบื้องหลังคา ความเรียบเสมอของการปู ซึ่งแต่ละแผ่นต้องไม่เกยกันจนทำให้เกิดช่องโหว่ หรือมีรอยแตกร้าวที่ทำให้เกิดปัญหาการรั่วซึมภายหลัง โดยการตรวจสอบหลังคาต้องดูทั้งส่วนที่โชว์อยู่ภายนอกบ้าน และส่วนที่อยู่ในบ้านติดกับตัวฝ้าเพดาน
9. งานระบบไฟฟ้า
เป็นการตรวจสอบระบบไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์ต่างๆ โดยการทดลองเปิดไฟทั้งบ้านเพื่อดูว่ามีส่วนใดไม่ติดหรือมีแสงสว่างออกน้อยผิดปกติ หรือทดลองนำอุปกรณ์ไฟฟ้าทดลองเสียบปลั๊กดูว่ามีไฟฟ้าเข้าปกติหรือไม่ รวมไปถึงดูการติดตั้งหลอดไฟแสงสว่าง การติดตั้งเต้าเสียบ-เต้ารับ และการเดินสายไฟว่ามีการก่อสร้างที่เรียบร้อย เป็นระเบียบ การเก็บงานดี และไม่มีคราบสกปรกติดตามอุปกรณ์
10. งานสุขาภิบาล
การตรวจสอบสุขภัณฑ์ งานระบบน้ำและการรั่วซึม โดยดูระบบน้ำประปา หรือระบบปั้มน้ำต่างๆ ว่ามีการทำงานปกติหรือไม่ ควรลองเดินตรวจตามท่อน้ำต่างๆ ว่ามีร่องรอยน้ำรั่วหรือไม่ และตรวจสอบการทำงานของมิเตอร์น้ำ โดยให้ลองปิดน้ำทั้งบ้าน และดูว่าตัวเลขยังหมุนอยู่หรือไม่ ถ้ายังหมุนอยู่แสดงว่าอาจจะมีจุดที่รั่วอยู่
นอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบเรื่องระบบการระบายน้ำตามท่อและจุดต่างๆ ซึ่งต้องสามารถไหลระบายได้สะดวก ไม่ติดขัดอุดตัน หากยังมีปัญหาต้องให้ทีมแก้ไข
การเตรียมพร้อมก่อนตรวจรับบ้านสิ่งสำคัญคือความรอบรู้เรื่องบ้านของเจ้าของบ้าน และรู้เท่าทันงานก่อสร้างที่เจ้าของบ้านต้องมีมาเบื้องต้น ส่วนที่เหลือหน้างานคือความละเอียดรอบคอบของการตรวจงานแต่ละจุดอย่างใจเย็น ไม่รีบร้อน เพราะการสร้างบ้านใช้งบประมาณที่สูง ใช้เวลาสร้างนาน บ้านที่ได้จึงต้องมีมาตรฐานสมการลงทุนทั้งเงิน เวลา และแรงกายแรงใจ