บันได ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับบ้านที่มีมากกว่า 1 ชั้น เพราะทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่แต่ละชั้น ซึ่งการสร้างบันไดนั้นเกี่ยวข้องทั้งความสวยงาม และความปลอดภัย ดังนั้นขั้นตอนการออกแบบบันไดจึงสำคัญมาก โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับโครงสร้าง ความสวยงาม รวมไปถึงขนาดบันไดที่เหมาะสมต่อผู้ใช้งาน เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานบันได
AYB Resort House ได้รวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการออกแบบบันไดที่ดีและปลอดภัยต่อการใช้งาน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการสร้างบ้านที่จะทำให้สามารถอยู่อาศัยได้ในระยะยาว
แนวทางออกแบบบันไดบ้านให้ปลอดภัย
1. ขนาดลูกตั้ง ลูกนอน
ลูกตั้งและลูกนอน เป็นส่วนประกอบหลักของบันได โดยลูกตั้งคือส่วนฐานแนวตั้งของบันไดแต่ละขั้น และลูกนอนคือส่วนที่เท้าเหยียบสัมผัสขณะเดินขึ้นลงบันได
ลูกตั้งและลูกนอนเป็นส่วนที่จะกำหนดระยะยกเท้าและวางเท้า หากขนาดไม่สมดุลกันจะทำให้ไม่สะดวกสบายในการใช้งาน และยังเสี่ยงอันตรายอีกด้วย
• ขนาดลูกตั้ง ที่ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร กำหนดไว้นั้น ต้องไม่สูงกว่า 20 ซม. แต่ระยะลูกตั้งที่กำลังก้าวสบายนั้นอยู่ที่ประมาณ 15-18 ซม.
• ขนาดลูกนอน ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร กำหนดไว้ควรกว้างไม่น้อยกว่า 22 ซม. ซึ่งความสูงและความกว้างสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของผู้ใช้งานในบ้านนั้นๆ โดยเฉลี่ยประมาณ 25-28 ซม.
2. จำนวนขั้นของบันได
การสร้างบ้านส่วนใหญ่นิยมสร้างบันไดเป็นเลขคี่ โดยจำนวนที่มักสร้างกัน ได้แก่ 17, 19, 21 หรือ 23 ขั้น ซึ่งวิธีนับขั้นบันไดนั้นนับตั้งแต่ขั้นที่ 1 ไปถึงขั้นสุดท้าย ไม่นับรวมชานพัก
สาเหตุที่นิยมสร้างขั้นบันไดเป็นเลขคี่เพราะเหมาะสมกับหลักสมดุลของจังหวะการก้าวเดินตามธรรมชาติ และการทรงตัวของร่างกาย โดยคนเราเมื่อก้าวเท้าข้างไหนก่อนจะจบด้วยเท้าอีกข้างเสมอ อีกทั้งในทางฮวงจุ้ยเชื่อว่าเลขคี่จะหมายถึงคนเป็น ส่วนเลขคู่จะหมายถึงคนตายอีกด้วย
3. ความกว้างของบันได
หลายคนอาจละเลยความกว้างของบันได เพราะคิดว่าใช้แค่เดินขึ้นลงระหว่างชั้นเท่านั้น จะแคบไปหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่ความกว้างของบันไดที่เหมาะสมสำหรับรองรับการขนย้ายเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เช่น ที่นอน โซฟา คือ 1-1.2 เมตร อีกทั้งยังเป็นขนาดที่พอดีกับวัสดุอุปกรณ์สำเร็จรูปต่างๆ เช่น พื้นไม้บันไดสำเร็จรูป หรือจมูกกันลื่น ทำให้ไม่เหลือเศษ หรือมีรอยต่อให้หมดสวยอีกด้วย
4. ชานพักบันได
ส่วนมากบันไดที่มีหลายขั้นจะมีชานพัก โดยเฉพาะบ้านที่มีระยะห่างระหว่างชั้นมาก หากไม่มีชานพักจะทำให้บันไดสูงชันมาก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
การมีชานพักบันไดนอกจากจะเพื่อลดความลาดชันแล้ว ในทางกฎหมายยังกำหนดไว้ว่าต้องมีชานพักระหว่างขั้นบันไดในทุกๆ 3 เมตร หรือน้อยกว่านั้น และชานพักบันไดต้องมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได เช่น บันไดกว้าง 120 ซม. ชานพักควรมีขนาด 120×120 ซม.
5. ราวจับบันได้หรือราวกันตก
มีการสำรวจพบว่าผู้คนส่วนมากมักไม่จับราวบันไดในการเดินขึ้นลง โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ราวจับบันไดถูกระบุเป็นจุดเสี่ยงอันดับต้นๆ แม้จะอยู่ในบ้านพักอาศัยก็ตาม แต่ในหลักการสร้างเพื่อความปลอดภัยแล้วนั้นมีแล้วไม่ได้ใช้ ก็ยังดีกว่าจะใช้แล้วไม่มี
ดังนั้นเมื่อมีบันได้ก็ต้องมีราวคู่กันไว้ให้อุ่นใจ เพื่อช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีเดินสะดุด ลื่นหกล้ม หรือเดินสวนทางกัน การออกแบบบ้านในส่วนราวบันไดนั้น ควรมีความสูงประมาณ 75-85 ซม. และควรออกแบบให้โปร่ง มองทะลุได้ หากเกิดอุบัติเหตุจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที
6.แสงสว่างของโถงบันได
โถงบันไดควรออกแบบให้มีแสงสว่างที่เพียงพอ เพื่อลดอุบัติเหตุในการใช้งาน แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่หรือตัวบ้าน ทำให้จำเป็นต้องสร้างบันไดติดกับผนังด้านหนึ่ง หรือมีผนังทึบกั้นกันตกขนาบ 2 ข้าง ทำให้โถงบันไดดูมืด ให้ความรู้สึกไม่ปลอดภัยเวลาเดินขึ้น-ลง
บริษัทรับออกแบบบ้าน หรือบริษัทรับสร้างบ้าน จึงเพิ่มแสงไฟเข้าไป โดยอาจใช้วิธีติดไฟฝังผนังกระจายแสงทางด้านข้าง ติดไฟขั้นบันไดแบบเซนเซอร์ ติดโคมไฟระย้า เจาะช่องแสงบนผนังเหนือบันได หรือเจาะช่องแสง Skylight ให้แสงสว่างไหลมาจากด้านบน เพื่อให้มีแสงสว่างที่โถงบันได้อย่างเพียงพอ
สำหรับท่านที่กำลังมองหาบ้าน หรือมีแพลนจะสร้างบ้านเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแบบบ้านรีสอร์ท แบบบ้านริมน้ำ แบบบ้านบนเขา หรือบ้านสไตล์ต่างๆ หากมีสองชั้นขึ้นไป ให้พิจารณาออกแบบและสร้างบันไดของบ้านให้เหมาะสมกับการใช้งาน และมีมาตรฐาน ความปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง