“หลังคา” เป็นองค์ประกอบบ้านที่ช่วยคุ้มฟ้าคุ้มฝน ปกป้องตัวบ้านและทุกชีวิตที่อยู่ภายในให้ปลอดภัยจากสภาวะแวดล้อมต่างๆ และเป็นส่วนที่หากเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว การซ่อมแซมเป็นเรื่องใหญ่และทำได้ยากส่วนหนึ่งเลยทีเดียว ปัญหาของหลังคาที่พบได้บ่อย คือ น้ำรั่วซึม หลังคาแอ่น กระเบื้องหลุดปลิว ซึ่งส่งผลเสียหายบานปลายไปยังส่วนอื่นๆ ของบ้านได้ในภายหลัง
ปัญหาที่ดูร้ายแรงสามารถป้องกันได้หากรู้ทัน 5 จุดเสี่ยงของหลังคา ที่ AYB ได้รวบรวมมาฝากว่าที่เจ้าของบ้านให้รู้เท่าทัน และเตรียมพร้อมตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างบ้าน เพื่อเลี่ยงปัญหาหลังคาที่ชวนให้ปวดใจในภายหลัง
จุดเสี่ยงที่ 1: โครงหลังคาบ้านไม่ได้มาตรฐาน
โครงสร้างหลังคาเปรียบเหมือนโครงกระดูกของร่างกายมนุษย์ เป็นแกนในการรับน้ำหนักแผ่นกระเบื้องหลังคาทั้งหมด และทำหน้าที่ยึดแผ่นหลังคาให้เป็นผืนปกคลุมตัวบ้านอย่างแข็งแรง สามารถต้านแรงลมได้ เพื่อปกป้องไม่ให้แผ่นมุงหลังคาปลิวหายไปกับลมพายุ
โครงหลังคาเป็นส่วนที่ต้องเลือกผู้รับเหมา และวัสดุให้ดีตั้งแต่ต้น เนื่องจากหากเกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง การรื้อมาแก้ไขเป็นงานใหญ่ และอาจแก้ไขได้ไม่ดีเท่าการสร้างในครั้งแรก ซึ่งงานก่อสร้างส่วนโครงหลังคานั้น ผู้รับเหมาหรือบริษัทรับสร้างบ้าน จะต้องเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมในการขึ้นโครงหลังคา และต้องมีการคำนวณทางวิศวกรรมอย่างละเอียดรอบคอบ ควบคุมการติดตั้งให้ได้มาตรฐาน ตรงตามผู้ผลิตกำหนด และเหมาะสมกับวัสดุมุงแต่ละประเภท เพื่อให้โครงหลังคาทำงานเต็มประสิทธิภาพ
จุดเสี่ยงที่ 2 : ครอบสันหลังคา
ปัญหาหลังคารั่วซึมมีส่วนที่พบบ่อยคือ บริเวณรอยต่อของสันหลังคาและตะเข้สัน (ตะเข้สัน เกิดจากระนาบหลังคาชนกันเป็นสันขึ้นมา) ซึ่งช่างติดตั้งหลังคาจะใช้วิธี “ครอบสันหลังคาแบบเปียก” เป็นการนำปูนซีเมนต์ผสมทรายและน้ำ แล้วโปะลงบนสันหลังคาเป็นสองแถว จากนั้นนำครอบสันหลังคามาวางกดลงไปบนก้อนปูนที่โปะไว้ เพื่อป้องกันน้ำรั่วซึม
การติดตั้งครอบหลังคาและวัสดุครอบปิดรอยต่อที่ดี ต้องระวังไม่โบกปูนล้นเข้าไปในตะเข้สัน หรือติดตั้งปูนใต้ครอบบางเกินไปและล้นไปที่หัวกระเบื้อง เพราะการติดตั้งครอบหลังคาที่ไม่แน่นหนา ยึดครอบไม่สนิท ติดตั้งครอบสันหลังคาไม่ได้ระดับ หรือตัดกระเบื้องร่องรางและตะเข้สันไม่ได้แนวตรง จะทำให้เกิดช่องว่างที่จะเป็นช่องทางให้น้ำซึมและรั่วเข้าสู่ตัวบ้านได้
นอกจากปัญหาน้ำรั่วซึมตามรอยต่อแล้ว อีกกรณีที่พบได้บ่อย คือ ปูนปิดรอยต่อหดตัวเสื่อมสภาพจากการใช้งาน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เกิดเป็นรอยแตกร้าว น้ำจึงซึมเข้าบ้านตามรอยแตกได้ ปัจจุบันมีเทคนิคใหม่ที่ลดปัญหาที่เกิดจากการครอบแบบเปียกได้ นั่นคือ ครอบแบบแห้ง
ครอบแบบแห้ง คือ การใช้แผ่นแถบยางรองติดแนบลงไปกับสันหลังคาและติดตั้งครอบทับได้เนียนกว่าสะดวกกว่า ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการรั่วซึมได้มากกว่า ซึ่งหากสนใจการครอบแบบแห้ง ให้เจ้าของบ้านปรึกษากับบริษัทรับสร้างบ้านที่ใช้บริการสร้างบ้านเพื่อเปลี่ยนมาใช้วิธีนี้แทนการครอบแบบเดิม
จุดเสี่ยงที่ 3: องศาของหลังคาไม่เหมาะสม
การติดตั้งหลังคาต้องคำนึงถึงองศาความลาดเอียงที่พอเหมาะ เพื่อให้น้ำฝนไหลระบายได้ง่ายและเร็ว ลดความชื้นสะสมบนหลังคาเพื่อป้องกันเชื้อรา หลังคาที่ลาดเอียงน้อยจะทำให้น้ำฝนไหลย้อนกลับเข้าไปใต้ชายคาอีกด้วย หลักการออกแบบหลังคาที่ป้องกันการรั่วซึมได้ดีจะใช้หลังคาทรงสูงที่มีความชันตั้งแต่ 30 องศาขึ้นไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประเภทวัสดุที่ใช้มุงหลังคาและข้อกำหนดของหลังคาแต่ละชนิดด้วย
หากเจ้าของบ้านต้องการสร้างบ้านแบบโมเดิร์น ที่มีลักษณะเด่นเป็นหลังคาที่มีความลาดชันน้อย มีความจำเป็นต้องปรับองศาความชันหลังคาต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่วัสดุหลังคานั้นๆ จะรองรับได้ แนะนำให้ปรึกษาสถาปนิก วิศวกร หรือบริษัทรับสร้างบ้าน เพื่อคำนวณระยะซ้อนทับของแผ่นหลังคา ก่อนจะก่อสร้างจริง เพื่อป้องกันปัญหาหลังคารั่วซึม
จุดเสี่ยงที่ 4: การวางแนวกระเบื้องหลังคา
กระเบื้องมุงหลังคาเปรียบได้ดังผิวหนัง ผิวที่สวยงามต้องเนียนเรียบสนิทฉันใด การมุงหลังคานั้นกระเบื้องก็ต้องแนบสนิทลงตัวกันทุกแผ่น เพื่อให้ภาพรวมดูสวยงาม ไม่คด ไม่เบี้ยว หรือกระเดิด ทั้งนี้แนวของกระเบื้องไม่ได้แสดงถึงความเรียบร้อยเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณแสดงปัญหาบางอย่างได้ด้วย
การวางกระเบื้องไม่สนิทหรือแถวคดเคี้ยวไม่ได้แนว อาจเกิดจากแปที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักกระเบื้องนั้น วางไม่ได้ระดับมาตรฐานจนแอ่น แนวกระเบื้องจึงเกิดการแอ่นหรือยุบตัวจากการกระจายน้ำหนักไม่เท่ากัน เกิดเป็นช่องโหว่ระหว่างแผ่น ทำให้น้ำซึมเข้าตัวบ้านได้ หากปล่อยไว้บานปลายก็มีโอกาสที่ต้องแก้ด้วยการรื้อหลังคาทั้งผืน ดังนั้นเมื่อเห็นความผิดปกติตรงจุดนี้ต้องรีบให้ช่างแก้ไขโดยด่วน
ในการสร้างบ้านหากเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม และคำนวณน้ำหนักของหลังคา ความยาวของวัสดุมุง ให้สัมพันธ์กับขนาดของแปอย่างเหมาะสม ปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไป
จุดเสี่ยงที่ 5: น้ำรั่วบริเวณอุปกรณ์ยึด
จุดสุดท้ายที่พบช่องหรือรูโหว่จนเกิดน้ำรั่วซึมได้ คือ บริเวณอุปกรณ์ยึดอย่าง สกรู ตะปูเกลียว ซึ่งในการประกอบผืนหลังคาต้องอาศัยอุปกรณ์เหล่านี้อย่างหลีกเลียงไม่ได้ จุดเล็กๆ ที่แทบจะมองไม่เห็นเหล่านี้ก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะตะปูตัวเดียวที่เป็นสนิมและหลุดออก หรือแผ่นกระเบื้องที่เจาะรูสกรูผิดพลาดไม่ตรงแปแล้วไม่ได้อุดเก็บงานให้เรียบร้อย ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของการรั่วซึม
ในขั้นตอนนี้ควรตรวจเช็กตั้งแต่ยังไม่ติดตั้งฝ้าเพดาน มิเช่นนั้นแล้วจะตรวจสอบได้ยาก อย่างไรก็ตามวัสดุที่ใช้งานไปนานๆ ย่อมเสื่อมสภาพลงตามกาลเวลา นอกจากนี้ตัววัสดุที่มีหน้าที่ป้องกันน้ำเข้าตามรอยยึดก็เช่นกัน หากเป็นสนิม หรือตัวยึดหลุด ก็ทำให้มีรูรั่วขึ้นได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเลือกวัสดุยึดที่มีคุณภาพสูง เพื่อความแข็งแรงและป้องกันสนิมได้
การจะสร้างบ้านใหม่สักหลังนั้นมีรายละเอียดมากมายที่ต้องใส่ใจ ถ้าพลาดเพียงจุดเดียว ก็อาจเกิดปัญหาหลังคารั่วบานปลายตามมาได้ หากต้องการบ้านที่ไม่มีปัญหา หลังคาสวยงามและใช้งานได้ยาวนาน การเลือกบริษัทรับสร้างบ้านที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างบ้านอย่างครอบคลุม ดูแลทุกรายละเอียดตั้งแต่ต้นจนจบอย่างใกล้ชิด ให้คำปรึกษาและเลือกการก่อสร้างที่ดีที่สุดให้กับบ้านของเรา จะทำให้มั่นใจว่าจะได้บ้านที่สวยงามและแข็งแรงปลอดภัยหลังส่งมอบงานแน่นอน