สำหรับท่านที่มองหาที่ดินเพื่อก่อร่างสร้างบ้าน หนึ่งในกระบวนการสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ การทำรังวัดที่ดิน ให้ทราบแนวเขตที่ตั้งและเนื้อที่ของที่ดิน เพื่อให้ได้ขนาดของที่ดินตรงกันกับที่ระบุไว้ในโฉนด และช่วยเพิ่มความแม่นยำในการออกแบบบ้านอีกด้วย ดังนั้น AYB Resort House รับสร้างบ้านสไตล์รีสอร์ท ตอบโจทย์คนที่ชื่นชอบบรรยากาศธรรมชาติ ได้เรียบเรียงและแจกแจงข้อควรรู้เกี่ยวกับการรังวัดที่ดิน เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการศึกษาก่อนตัดสินใจเลือกซื้อที่ดิน รวมถึงปกป้องสิทธิ์ในพื้นที่ของเรา
การรังวัดที่ดินคืออะไร
ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1 บัญญัติไว้สำหรับคำว่า “การรังวัด” หมายความว่า การรังวัดปักเขตและทำเขต จด หรือคำนวณการรังวัด เพื่อให้ทราบที่ตั้งแนวเขตที่ดินหรือทราบที่ตั้งและเนื้อที่ของที่ดิน โดยการรังวัดนั้นมีวัตถุประสงค์หลักๆ ดังนี้
• เพื่อให้ทราบที่ตั้งแนวเขตที่ดิน คือให้รู้ว่าแนวเขตที่ดินเป็นอย่างไร ติดต่อกับที่ดินแปลงใดบ้าง และมีความกว้างยาวเท่าใด
• เพื่อให้ทราบที่ตั้งของที่ดินว่า ที่ดินตั้งอยู่ท้องที่ใด หมู่ใด ตำบลใด อำเภอหรือจังหวัดใด
• เพื่อให้ทราบเนื้อที่ของที่ดิน ว่าที่ดินแปลงนั้นมีเนื้อที่กี่ไร่ กี่งานหรือกี่ตารางวา
• ป้องกันการเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เนื่องจากโดนแย่งกรรมสิทธิ์จากการรุกล้ำที่ดินโดยบุคคลอื่น เช่น การเลื่อนเขตหมุดที่ปักใหม่ การทำลายหมุด หรือการรุกล้ำพื้นที่
• ป้องกันการถูกรอนสิทธิ์ในที่ดิน ยกตัวอย่างเช่น การถูกใช้ที่ดินเป็นทางเข้า-ออกจากบุคคลอื่น
• ป้องกันการเหลื่อมล้ำ จากเส้นทางสาธารณประโยชน์อื่นๆ เข้ามาในที่ดิน เช่น คลอง ห้วย ซึ่งในกรณีนี้จะทำให้เจ้าของที่ดินโดนแบ่งหักที่ดินออกไปโดยไม่รู้ตัว
การยื่นคำขอเพื่อรังวัดที่ดิน
สามารถทำได้ใน 3 กรณี คือ
1. การรังวัดแบ่งแยก เพื่อแบ่งที่ดินผืนใหญ่ออกเป็นหลายๆ แปลง โดยกรมที่ดินใหม่จะออกโฉนดที่ดินของแปลงที่แบ่งแยกใหม่ให้แก่เจ้าของที่ดินเพิ่มเติมด้วย
2. การรังวัดรวมโฉนด เพื่อรวมที่ดินตั้งแต่ 2 โฉนดขึ้นไปเป็นโฉนดใหม่ฉบับเดียว โดยกรมที่ดินจะออกโฉนดที่ดินรวมฉบับใหม่ให้กับเจ้าของที่ดิน
3. การรังวัดสอบเขต เพื่อให้ทราบเนื้อที่ทั้งหมดว่าตรงกันกับในโฉนดหรือไม่ และมีสภาพที่ดินที่แท้จริงในขนาดกี่ไร่ กี่งาน หรือกี่ตารางวา รวมถึงหากมีกรณีสูญหายของหมุดปักบอกอาณาเขตด้วย
ขั้นตอนการรังวัดที่ดินและสิ่งที่ควรรู้
การดำเนินการยื่นเรื่องเพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินมาทำการรังวัดที่ดินนั้น จะต้องมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินอยู่กับตัวเสียก่อน เช่น โฉนดที่ดิน น.ส.3, น.ส.3 ก, น.ส.3 จ ซึ่งโฉนดดังกล่าวจะบอกถึงขนาดและแนวเขตของที่ดินเอาไว้ให้ตรวจสอบนั่นเอง
ยื่นคำขอรังวัดที่ดินได้ที่ไหน?
เจ้าของที่ดินสามารถยื่นขอรังวัดที่ดินได้ที่สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา หรือสำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ โดยเจ้าของที่ดินจะต้องทำการเตรียมเอกสารต่างๆ เพื่อนำมายื่นคำร้องขอรังวัดที่ดิน ดังนี้
1. บัตรประจำตัวประชาชน
2. ทะเบียนบ้าน
3. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-สกุล ทะเบียนสมรส (ถ้ามี)
4. โฉนดที่ดิน หรือหนังสือการรองรับทำประโยชน์ที่ดิน
ขั้นตอนการรังวัด แบ่งแยก รวม สอบเขตที่ดิน
1. ติดต่อสำนักงานเขตที่ดิน
2. รับคิว และรับคำขอสอบสวน ชำระเงินค่าธรรมเนียมคำขอ
3. ส่งฝ่ายรังวัดดำเนินการ นัดวันทำการรังวัด กำหนดตัวช่างรังวัด กำหนดเงินมัดจำรังวัด
4. ค้นหารายชื่อเจ้าของที่ดินข้างเคียง และพิมพ์หนังสือแจ้งข้างเคียง
5. รับหนังสือแจ้งข้างเคียง วางเงินมัดจำรังวัด รับหลักเขตที่ดิน
6. ช่างรังวัดออกไปทำการรังวัดตามวันที่กำหนดไว้
7. คำนวณเนื้อที่จะใช้วิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า ที่ดินแปลงนั้นมีเนื้อที่มากน้อยเพียงใด และเขียนรูปแผนที่ในโฉนดที่ดิน
8. ส่งเรื่องรังวัดคืนฝ่ายทะเบียน เรียกผู้ขอมาจดทะเบียน
9. สอบสวนจดทะเบียนแบ่งแยก
10. ตรวจอายัด
11. ชำระเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน และค่าโฉนด
12. แก้รายการทะเบียน และจดทะเบียนแบ่งแยก
13. สร้างโฉนดที่ดินแปลงแบ่งแยก
14. เสนอเจ้าพนักงานที่ดินลงนามและประทับตรา
15. แจกโฉนดที่ดินแปลงแบ่งแยก (หากเป็นการรังวัดเพื่อแบ่งแยกที่ดิน)
ในการรังวัดที่ดินเจ้าของที่ควรมีการเก็บภาพการรังวัด และภาพแนวเขตเอาไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้ในการยืนยันแนวเขตที่ดินและจุดปักหมุดเขตที่ดินในอนาคต หากมีหมุดตกหล่น สูญหาย หรือเคลื่อนย้าย จะได้มีหลักฐานปกป้องสิทธิในที่ดินของตัวเอง
อ้างอิงข้อมูล