บ้านทรุด ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้กับบ้านทุกหลัง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีอัตราการทรุดตัวมากขึ้นทุกปี เพราะพื้นดินเป็นดินอ่อน เมื่อบ้านทรุดจะส่งผลให้เกิดโพรงใต้ดิน พบรอยร้าวรอบตัวบ้าน พื้นรอบบ้าน หรือพื้นที่บางส่วนแยกออกจากบ้าน นอกจากสาเหตุจากโครงสร้างดิน ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดบ้านทรุดได้ ดังนั้นหากเรารู้ก่อนสร้างบ้าน ก็สามารถวางแผนป้องกันการเกิดบ้านทรุดซึ่งเป็นปัญหาหนักอกในอนาคตได้
1. สาเหตุจากพื้นดินยุบตัว
พื้นดินแต่ละผืนมีความอ่อน แข็ง หนาแน่น และอัตราการยุบตัวที่แตกต่างกันตามโครงสร้างของเนื้อดิน เช่น พื้นดินในเขตกรุงเทพฯ เป็นตะกอนดินเหนียวปากแม่น้ำ จึงมีความอ่อนนุ่มและทรุดตัวง่ายกว่าจังหวัดอื่น หรือพื้นที่ที่เดิมเคยเป็นหนองน้ำ หรือพื้นนามากก่อน ดินก็จะอ่อนตัวมากกว่าปกติ
ดังนั้นก่อนการปลูกบ้านควรคัดสรรเลือกที่ดินโดยหลีกเลี่ยงพื้นที่ดังกล่าว ด้วยการสังเกตจากสภาพแวดล้อมรอบๆ ที่ดินนั้น หากเป็นพื้นที่นา หรือหนองน้ำ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ที่ดินจะเป็นดินถมใหม่ มีความเสี่ยงทรุดตัวสูง นอกจากนี้ยังใช้การสังเกตพันธุ์ไม้ที่ขึ้นบริเวณนั้น หากเป็น ต้นกก ต้นอ้อ ต้นพลับพลึง จะขึ้นบริเวณที่มีความชื้นและแหล่งน้ำ แสดงว่าดินบริเวณนั้นเป็นดินอ่อน
2. สาเหตุจากการก่อสร้างบนดินที่ยังไม่เซตตัว
หลายพื้นที่ใช้การถมดินเพื่อปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับการปลูกบ้านและป้องกันการทรุด แต่ก่อนจะถมดินต้องทราบลักษณะพื้นที่เบื้องต้น เพื่อกำหนดความสูงในการถมดิน และระยะเวลาในการรอดินที่ถมเซตตัว เพื่อป้องกันปัญหาดินทรุดในอนาคต
• ความสูงของดินที่จะถมพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ระดับของพื้นถนน ระดับของพื้นที่ปกติที่น้ำท่วมถึง ความสูงของบ้านหลังอื่นๆ หรือพื้นที่ดินเปล่า ซึ่งในอนาคตอาจมีสิ่งก่อสร้างเกิดขึ้น โดยทั่วไปการถมที่ดินมักจะถมสูงกว่าถนนประมาณ 50-80 เซนติเมตร หรือบางพื้นที่ที่อาจต้องถมดินให้สูงถึง 1 เมตร เพื่อเผื่อไว้สำหรับการยุบตัวของดินในอนาคต
• ระยะเวลาการทิ้งพื้นที่ให้ดินเซตตัวสำหรับบ้านที่ถมดินเรียบร้อยแล้ว ให้พักดิน 6-12 เดือน เพื่อให้หน้าดินมีการเซตตัว ป้องกันการทรุดตัวมากในระยะยาว แต่หากมีเวลาน้อย การใช้รถบดอัดดินจะช่วยให้ดินแน่นเร็วขึ้น ช่วยร่นเวลาได้
3. สาเหตุจากระบบฐานรากของบ้าน
สาเหตุนี้เกี่ยวข้องกับเสาเข็มที่เป็นฐานรากสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าบ้านทรุดตัวยากหรือง่าย หากวางแผนก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็จะทำให้บ้านทรุดเอียงง่ายขึ้น เช่น
• ลงเสาเข็มน้อยเกินไปบ้านที่ไม่ได้ลงเสาเข็มบริเวณพื้นลานจอดรถ หรือพื้นบริเวณลานซักล้างด้านหลังบ้าน แต่ใช้วิธีการก่อสร้างแบบเทคอนกรีตลงบนดิน (On Ground) จะเกิดปัญหาการทรุดตัวอย่างแน่นอน
• ลงเสาเข็มสั้นเกินไปแม้ว่าการลงเสาเข็มสั้น 6 เมตร แต่ลงเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4-6 ต้น สามารถใช้แทนเสาเข็มยาวได้ จึงทำให้หลายบ้านเลือกใช้วิธีนี้เพราะสะดวกและราคาย่อมเยากว่าเสาเข็มยาว แต่ในความเป็นจริงจะต้องดูชนิดของดินเป็นหลัก หากเป็นดินอ่อนควรลงเสาเข็มยาวมากกว่า เพราะเสาเข็มสั้นจะช่วยเพียงชะลอการทรุดตัวให้น้อยลงเท่านั้น ผ่านไป 5-10 ปี ร่องรอยการทรุดก็จะปรากฏออกมาให้เห็น
• เสาเข็มมีการแตกหักในชั้นดิน การแตกหักของเสาเข็มอาจเกิดขึ้นได้ในขั้นตอนการขนส่งเสาเข็ม หรือขั้นตอนการตอกเสาเข็ม ซึ่งส่งผลให้เสาเข็มไม่สามารถรองรับน้ำหนักของตัวบ้านได้เต็มที่ ทำให้เกิดการทรุดเอียง และฐานรากอาจแตกร้าวได้
• ปลายเสาเข็มอยู่บนสภาพดินที่ต่างกันหากปลายเสาเข็มต้นหนึ่งอยู่บนดินแข็ง แต่อีกต้นอาจอยู่บนดินอ่อน แต่กลับใช้เสาเข็มชนิดเดียวกัน ขนาดเท่ากัน ความยาวเท่ากัน เวลาผ่านไปพื้นที่ดินอ่อนจะยุบตัวทำให้บ้านนั้นทรุดและร้าวได้
4. น้ำหนักบ้าน
โครงสร้างบ้านนั้นถูกออกแบบให้รองรับน้ำหนักเพียงพอต่อการอยู่อาศัยตามปกติ หากมีการเพิ่มน้ำหนักมากดทับมากเกินไป เช่น การต่อเติมบ้าน ทำชายคา ต่อหลังคาโรงจอดรถ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้บ้านทรุดได้
ดังนั้นในการสร้างบ้านควรให้โครงสร้างทุกอย่างใช้ฐานรากเดียวกับบ้านและทำเสาเข็มรองรับทั้งหมดเพื่อป้องกันการทรุด หรือหากจะต่อเติมในภายหลังโดยไม่ใช้ฐานรากเดียวกับตัวบ้านและไม่มีการตอกเสาเข็มรองรับน้ำหนักไว้ ควรเว้นช่องแยกจากตัวบ้านชัดเจน เพื่อไม่ให้การทรุดตัวนั้นส่งผลกระทบพ่วงกับตัวบ้าน
ปัญหาบ้านทรุดป้องกันไม่ยาก แต่แก้ไขไม่ง่าย ดังนั้นก่อนการเริ่มก่อสร้างบ้าน ควรศึกษาลักษณะพื้นที่ดินให้ละเอียดและเลือกใช้บริษัทรับสร้างบ้าน ที่มีความชำนาญและมีมาตรฐาน เพื่อให้คำแนะนำในการก่อสร้างที่ถูกต้อง ช่วยปรับแก้ไขจุดอ่อนของพื้นที่ดิน และมีการวางแผนอย่างละเอียดในทุกขั้นตอนเพื่อให้บ้านสร้างออกมาสวยงาม แข็งแรง หมดกังวลกับปัญหาบ้านทรุดในระยะยาว และหากมีแผนจะต่อเติมบ้านในอนาคต ควรทำโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญที่ก่อสร้างอย่างถูกต้อง หลีกเลี่ยงการต่อเติมเองโดยใช้ช่างหรือผู้รับเหมาทั่วไป เพราะอาจเกิดความเสียหายกับตัวบ้านและเป็นอันตรายได้