เคยได้ยินเรื่องพรหมลิขิต รักแรกพบอะไรแบบนี้ก็บ่อย ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการเลือกซื้อที่ดิน บางทีแค่ขับรถผ่าน ชะตาต้องกันกระโดดลงรถไปซื้อเลยก็มี แต่วิธีนี้ไม่ใช่เหตุผลหลักที่คนทั่วไปจะใช้ตัดสินใจได้ โดยเฉพาะเพื่อการสร้างบ้าน เพราะการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่จะผูกมัดเราไว้เป็นหลักสิบๆ ปี พร้อมกับการจ่ายก้อนใหญ่ ต้องเช็กข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียด ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้างนั้นตามไปดูกันค่ะ
เช็กก่อนสร้าง ที่ดินของคุณเหมาะกับการสร้างบ้านหรือไม่?
1. ทำเล
ทำเลในที่นี้หมายถึงภาพรวมกว้างๆ เช่น ใกล้ที่ทำงานมั้ย เดินทางอย่างไร สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมไหม มีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด หรือเป็นทำเลทองล้อมรอบด้วยสำนักงานอาคารพาณิชย์ ชุมชน สถานที่สำคัญหรือเปล่า
นอกจากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ยังมีเรื่องของฮวงจุ้ย ซึ่งข้อควรระวังในการเลือกที่ดินในทำเลต่างๆ คือ ต้องไม่เป็นโรงฆ่าสัตว์ โรงพยาบาล สุสาน ศาสนสถาน เพราะเป็นแหล่งรวมพลังงานด้านลบ ทั้งยังเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคอีกด้วย
2. รูปทรงที่ดิน
รูปทรงที่เหมาะแก่การสร้างบ้านคือ รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือ สี่เหลี่ยมจัตุรัส เพราะง่ายและคุ้มค่าในเรื่องการออกแบบบ้าน เพื่อจัดสรรพื้นที่เป็นมุมต่างๆ ได้อย่างง่าย ที่สำคัญหากอนาคตมีการซื้อขายเกิดขึ้น รูปทรงของที่ดินก็มีส่วนในการประเมินราคาและการตัดสินใจของผู้ที่จะมาซื้อต่อเช่นกัน ยิ่งหากเป็นรูปทรงทางกว้างติดถนน ราคายิ่งสูงขึ้นไปอีก
ในทางฮวงจุ้ยรูปทรงที่ดินต้องห้ามคือ รูปทรงสามเหลี่ยมหรือชายธง ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้สมาชิกในบ้านเจ็บป่วยบ่อย ขาดโชคลาภด้านการเงิน รวมทั้งเกิดปัญหาการทะเลาะเบาะแว้ง รวมถึงที่ดินทรงนี้มักเหลือพื้นที่บางส่วนที่ไม่อาจใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่อีกด้วย ถือเป็นความสูญเปล่าที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง
3. ทางเข้า-ออก และแหล่งน้ำ
ทางเข้า-ออกสำคัญที่สุด ต้องไม่เป็นที่ดินตาบอด ต้องศึกษาเขตกรรมสิทธิ์ของตัวเองให้ละเอียด หลายครั้งในความเข้าใจผิด หรือใช้ความเคยชินของชาวบ้าน เห็นพื้นที่หรือถนนรอบข้างโล่งก็ถือวิสาสะเข้า-ออกในพื้นที่ของคนอื่น จนทำให้คุณอาจตัดสินใจซื้อโดยที่ไม่ศึกษาประวัติที่ดินนั้นก่อน จนวันหนึ่งเมื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ดำเนินการใดๆ ต่อพื้นที่ อาจส่งผลเสียต่อความสะดวก รวมถึงอาจทำให้กลายเป็นผู้บุกรุกโดยไม่รู้ตัว
ข้อควรระวังในเรื่องเขตพื้นที่ คือ ไม่ควรซื้อที่ดินที่ติดแม่น้ำ จะมีปัญหาเรื่องการกัดเซาะพังทลายได้ หรือควรเว้นระยะออกแบบบ้านและปลูกสร้างบ้านให้ห่างจากแม่น้ำเป็นระยะที่พอสมควร และต้องไม่ใช่แหล่งน้ำนิ่ง ต้องเป็นน้ำที่มีการไหลเวียนหรือเคลื่อนไหวตลอดเวลา
4. ระดับสูง-ต่ำของที่ดิน
เมื่อถูกใจกับที่ดินดังกล่าวแล้ว ก่อนจะวางมัดจำ ขอฝากข้อสังเกตเรื่องระดับสูง-ต่ำของพื้นที่ กล่าวคือการที่ที่ดินต่ำกว่ารอบข้างนั้นจะกลายเป็นพื้นที่ที่รองรับน้ำ รองรับของเสียจากรอบข้างไปโดยปริยาย พร้อมกันนั้นยังสะท้อนค่าใช้จ่ายจำเป็นต่างๆ ที่ต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน และยังพ่วงต่อในเรื่องกฎหมาย พ.ร.บ. ขุดดิน-ถมดินอีก ซึ่งถ้าการสร้างบ้านครั้งนี้เป็นการสร้างบ้านผ่านบริษัทรับสร้างบ้านก็ยังถือว่าสะดวกในเรื่องของการควบคุมการก่อสร้าง ขุดถมให้เป็นไปตามกฎหมาย หากเป็นการสร้างบ้านเองต้องพิจารณาเรื่องนี้เพิ่มเติม
ข้อควรระวังในเรื่องระดับสูง-ต่ำ ตามตำราฮวงจุ้ยถือว่าสิ่งไม่ดีจะไหลถ่ายเทเข้าสู่บ้านได้
5. ราคาที่เหมาะสม
ดูเหมือนเรื่องราคาจะเป็นตัวสรุปทุกเงื่อนไขว่าจะสามารถครอบครองที่ดินนั้นๆ ได้หรือไม่ เพราะยิ่งทำเลใกล้ชุมชน ใกล้สาธารณูปโภคราคาก็ยิ่งสูง หรือถ้าเป็นที่ดินทำเลทองมีคนอยากจับจองเยอะๆ และเจ้าของที่ดินอ่านความต้องผู้ซื้อได้มากเท่าไหร่ ราคาก็จะไม่อ่อนโยนด้วยเท่านั้น เรียกรวมๆ ว่าขึ้นอยู่กับความพอใจ แต่แม้จะเป็นที่ดินทำเลทองแค่ไหนก็ควรมีราคากลาง ราคาเป็นธรรม เป็นมาตรฐาน กำหนดการซื้อขาย โดยสามารถเช็กราคาได้จากส่วนต่างๆ ดังนี้
- ที่ดินของกรมธนารักษ์ กรมธนารักษ์เป็นองค์กรของรัฐบาล สามารถเช็กได้ทางเว็บของกรมธนารักษ์ได้ด้วยตัวเองที่ https://assessprice.treasury.go.th
- ที่ดินของภาคเอกชน เป็นการประเมินราคาโดยผู้เชี่ยวชาญราคาที่ดินจากเอกชน โดยสามารถยื่นตรวจสอบได้ผ่านบริษัทประเมินราคาที่ดิน หรือปรึกษาบริษัทรับสร้างบ้านที่เลือกใช้บริการสร้างบ้าน
- ราคาตลาด คือ ราคาที่ประเมินจากการซื้อขายที่ดินโดยรอบพื้นที่นั้นๆ เป็นราคาที่ผู้ขายตั้งไว้จะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับความพอใจ โดยสามารถเทียบราคากับประกาศ หรือจากธนาคารได้
ข้อควรรู้ทั้งหมด น่าจะเป็นตัวช่วยทำให้ใครหลายๆ คน ตัดสินใจความเหมาะสมเรื่องที่ดินได้ในเบื้องต้น ซึ่งยังมีอีกหลายข้อที่เป็นข้อมูลเฉพาะของที่ดิน และความต้องการของเจ้าบ้านนั้นๆ ซึ่งอาจแตกต่างกันออกไป เช่น ต้องดูขนาดของพื้นที่ เล็ก หรือ ใหญ่ เพียงพอต่อสมาชิก กิจกรรม สไตล์ ที่ต้องการทำ ซึ่งสามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้จากเว็บ บริษัท อยุธยา สร้างบ้าน จำกัด ได้เลยค่ะ