หลังคาเปรียบเสมือนมงกุฎของบ้าน เป็นองค์ประกอบที่ทำให้บ้านสวยสมบูรณ์ พร้อมทำหน้าที่บังแดด บังฝน ให้ผู้อยู่อาศัยอยู่อย่างปลอดภัยและอุ่นใจ ดังนั้นการเลือกทรงหลังคาจึงจะเลือกที่มีความเก๋ หรือให้เข้ากับสไตล์ของบ้านอย่างเดียวไม่ได้ แต่ยังต้องเลือกทรงที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ สภาพพื้นที่ และสามารถใช้งานได้ในระยะยาวอีกด้วย ซึ่งจะมีทรงอะไรบ้าง AYB บริษัทรับสร้างบ้านสไตล์รีสอร์ท จะพาไปดูรายละเอียดกัน
สร้างบ้านในเมืองไทย เลือกหลังคาทรงไหนให้อยู่ได้ระยะยาว?
แม้ว่าเมืองไทยจะเป็นเมืองร้อน แดดออกไม่ทันไรหลังคาก็พร้อมจะแห้งเหือดไปในพริบตา แต่กลับกันหากหลังคานั้นถูกสร้างขึ้นโดยที่ความชันไม่ได้องศา ต่อให้แดดแรงแค่ไหนก็ส่องไม่ทันน้ำที่ขังและทำให้เกิดปัญหารั่วซึมตามมาได้ ดังนั้นจึงมีการสร้างหลังคาและจัดวางองศาที่เหมาะสมกับวัสดุหลังคาแต่ละชนิด ดังนี้
1. หลังคาแผ่นเหล็กรีดลอน (Metal sheet) ความลาดชันที่เหมาะสมตั้งแต่ 5 องศาขึ้นไป หากเป็นแผ่นเดียวยาวตลอดไม่มีแผ่นซ้อนควรลาดเอียง 3 องศาขึ้นไป
2. กระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์ ได้แก่ กระเบื้องลอนคู่ กระเบื้องลอนเล็ก กระเบื้อง 3 ลอน กระเบื้อง 4 ลอน ความลาดเอียงที่เหมาะสมคือ 15-40 องศา
3. กระเบื้องว่าวคอนกรีต กระเบื้องว่าวดินเผา ความลาดเอียงที่เหมาะสมตั้งแต่ 35-45 องศา4
4. กระเบื้องแบบโมเนียร์ เช่น ซีแพคโมเนีย กระเบื้องตราเพชร ควรมีความลาดเอียงตั้งแต่ 25 -40 องศา
5. กระเบื้องดินเผาควรมีความลาดเอียงตั้งแต่ 20 องศาขึ้นไป เพราะแผ่นเล็กแนวซ้อนทับหลายแนว
เมื่อมีข้อมูลเฉพาะความลาดชันของวัสดุแต่ละประเภท และแนวทางเลือกทรงที่เหมาะสมกับบ้านเพื่อการใช้งานในระยะยาวแล้ว ยังต้องศึกษาสำรวจทิศทางลมและฝนก่อนสร้างบ้าน เพื่อออกแบบให้หันรับกับแนวฝน และทางลมเพื่อให้การระบายความร้อนที่สะสมใต้หลังคาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทรงหลังคาบ้านที่เหมาะสมกับเมืองไทย
หลังคาทรงจั่ว
เป็นหลังคามาตรฐานของบ้านในเมืองไทยที่พบเห็นกันได้มากที่สุด แม้จะเป็นรูปแบบหลังคาที่ง่าย แต่ด้วยรูปร่างที่ประกอบขึ้นเป็นผืนหลังคาสองข้างประกบกันซึ่งทำให้เกิดความลาดชัน จึงระบายน้ำฝนได้รวดเร็วไม่ค้างอยู่บนหลังคา ชายคายื่นยาวออกมาจากตัวบ้านป้องกันละอองฝนได้ดี ลักษณะรูปทรงที่มีสันสูงทำให้เกิดพื้นที่ว่างใต้โถงหลังคามาก ซึ่งช่วยให้การระบายความร้อนออกจากตัวบ้านสะดวกขึ้น
หลังคาทรงปั้นหยา
หลังคาทรงปั้นหยาเป็นทรงที่เรียบหรู ดูดี เป็นที่นิยมใช้ในแบบบ้านสไตล์รีสอร์ท ด้วยเป็นหลังคาที่ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านทั้ง 2 ข้าง ประกบชนกันที่ด้านบน สามารถป้องกันแดด ป้องกันฝนได้ทุกด้าน ทั้งยังทนต่อการปะทะจากแรงลมได้ดี เหมาะสำหรับบ้านในบริเวณที่มีสภาพอากาศรุนแรงของฝน และลมพายุ แต่หลังคาทรงนี้เป็นทรงปิดไม่มีหน้าจั่วที่ช่วยระบายความร้อน จึงต้องปรับประยุกต์ติดฝ้าชายคาที่มีร่องระบายอากาศ เพื่อช่วยระบายอากาศที่สะสมใต้โถงหลังคา แต่ข้อดีของหลังคาทรงปั้นหยา คือเป็นหลังคาที่ไม่มีปัญหารั่วซึมเหมือนหลังคารูปทรงอื่นๆ
หลังคาบ้านทรงแบน
เป็นหลังคาที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะจะเห็นได้จากการออกแบบบ้านสไตล์โมเดิร์น ข้อดีของหลังงคาทรงแบนคือ เพิ่มภาพลักษณ์ความทันสมัยให้กับบ้าน สามารถใช้พื้นที่หลังคาในการทำประโยชน์ได้ แต่ด้วยความที่เป็นหลังคาที่มีความลาดชันน้อยและทำด้วยคอนกรีต หลังคาแบบนี้จึงมีพื้นที่ที่รับและสะสมความร้อนไปในเวลาเดียวกัน จึงต้องมีการติดตั้งฉนวนกันความร้อนเหนือฝ้าเพดาน การทาสีสะท้อนความร้อนบนพื้นดาดฟ้า หรือติดตั้งวัสดุที่ช่วยไม่ให้แสงแดดตกกระทบพื้นคอนกรีตโดยตรง ฉะนั้นการทำหลังคาทรงนี้จึงต้องผ่านการออกแบบบ้านและวางแผนวัสดุอื่นๆ เพิ่มเติมโดยทีมผู้เชี่ยวชาญ
หลังคาทรงหมาแหงน
เป็นทรงที่พบเห็นได้ตามคาเฟ่ หรือการออกแบบบ้านที่ต้องการโชว์ความเท่ ไม่เหมือนใคร แต่หากมองที่การใช้งานนั้นอาจจะต้องพิจารณากันอีกที เพราะเป็นหลังคาที่มีความลาดชันไม่มากนัก ระบายน้ำฝนไม่ดีพอ จึงอาจจะทำให้เกิดปัญหาน้ำรั่วซึม และโถงใต้หลังคาต่ำ ส่งผลให้บ้านร้อนมากกว่าทรงหลังคาทั่วไป จึงจำเป็นต้องออกแบบให้โถงหลังคาด้านสูง สูงอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อสามารถติดตั้งฉนวนกันความร้อนช่วยถ่ายเทความร้อนในโถง ข้อเสียอีกข้อคือป้องกันฝนสาดได้ไม่ดีเท่าที่ควร
หลังคาทรงมะนิลา
เป็นทรงที่มีการผสมผสานระหว่างทรงจั่ว และทรงปั้นหยา โดยรูปทรงจะมีจั่วอยู่บริเวณยอดหลังคา ข้อดีของหลังคาทรงมะนิลา คือมีความแข็งแรงมั่นคง กันแดดกันฝนได้ดีเหมือนกับทรงปั้นหยา และยังสามารถระบายความร้อนได้ดีเหมือนกับทรงจั่ว ทำให้หลังคาทรงมะนิลาเป็นหลังคาที่เหมาะกับภูมิอากาศเมืองไทยทุกภาค ให้อารมณ์เรือนไทยประยุกต์ และแบบบ้านสไตล์รีสอร์ท
การเลือกหลังคาทรงต่างๆ ควรคำนึงถึงเรื่องการระบายความร้อน โดยทรงที่เหมาะกับบ้านในเมืองไทยคือ หลังคาทรงจั่ว หลังคาทรงปั้นหยา และหลังคาทรงมะนิลา ซึ่งล้วนมีคุณสมบัติระบายน้ำดีไม่รั่วซึมด้วย ถือเป็นการป้องกันทรัพย์สินตัดปัญหางานรื้อแก้อื่นๆ ภายใน ที่อาจจะส่งผลต่อการใช้งานระยะยาวนั่นเอง