อีกเรื่องที่ต้องคำนึงควบคู่กับการออกแบบบ้านนั่นก็คือ ระยะห่างจากเขตที่ดิน หลายครั้งที่เรานึกวาดแบบบ้านในใจแต่ไม่สามารถยื่นขออนุญาตก่อสร้างตามแบบนั้นๆ ได้ เพราะต้องรักษาระยะร่นต่างๆ ซึ่งมีกฎหมายควบคุมชัดเจน ตามกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 55 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2543 ฉะนั้นต้องเช็กก่อนสร้างบ้านเพื่อลดปัญหาต่างๆ โดยระยะห่างที่ไม่ผิดข้อกำหนดเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้ AYB บริษัทรับสร้างบ้าน ได้นำรายละเอียดมาฝากค่ะ
ระยะร่นคืออะไร?
ที่เว้นว่าง คือระยะห่างที่วัดจากแนวเขตที่ดินจนถึงแนวอาคารทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง ซึ่งกฎหมายได้กำหนดที่เว้นว่างไว้ทั้งอาคารเดี่ยวและอาคารชุดที่เรียงติดกัน ดังนั้นที่เว้นว่างกับระยะร่นบ้านจึงมีความแตกต่างกัน
- รู้หรือไม่? ตามกฎหมายสร้างบ้านกำหนดให้ที่ดินที่จะปลูกบ้าน จะต้องเปิดเป็นที่ว่างไว้ไม่น้อยกว่า 30% และอีก 70% ใช้เพื่อการสร้างบ้านที่พักอาศัย (โดยคำว่าที่ว่างในที่นี้ หมายถึงพื้นที่ที่ปราศจากสิ่งปกคลุม) กรณีไม่ใช่ที่อยู่อาศัย ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ชั้นที่กว้างที่สุด
ระยะต่างๆ ที่ควรวางแผนแบบบ้านให้ห่างจากเขตที่ดิน
1. อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร ด้านข้างอาคารที่ติดแนวเขตที่ดินผู้อื่นมีช่องเปิด (ช่องเปิด หมายถึง ประตู หน้าต่าง รวมถึงช่องแสง บล็อกแก้ว ช่องลม และระเบียง) ควรมีระยะถอยร่นอาคารจากขอบเขตที่ดิน อย่างน้อย 2 เมตร
2. อาคารที่มีความสูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่เกิน 23 เมตร ด้านข้างอาคารที่ติดแนวเขตที่ดินผู้อื่นมีช่องเปิด ควรมีระยะถอยร่นอาคารจากขอบเขตที่ดิน อย่างน้อย 3 เมตร
3. อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 15 เมตร ด้านข้างอาคารที่ติดแนวเขตที่ดินผู้อื่นไม่มีช่องเปิด ควรมีระยะถอยร่นอาคารจากขอบเขตที่ดิน อย่างน้อย 5 เมตร แต่หากเพื่อนบ้านเซ็นยินยอมก็สามารถสร้างชิดเขตที่ดินได้
4. อาคารที่มีความสูง 15 – 23 เมตร ด้านข้างอาคารที่ติดแนวเขตที่ดินผู้อื่นไม่มีช่องเปิด ควรมีระยะถอยร่นอาคารจากขอบเขตที่ดิน อย่างน้อย 5 เมตร ไม่ว่าเพื่อนบ้านจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
5. ที่ดินชิดถนนหักมุมจะต้องปาดแนวรั้วด้านละ 4 เมตร หากบ้านมีที่ดินอยู่ติดมุมถนน โดยมีมุมหักถนน 2 ด้านน้อยกว่า 135 องศา และถนนกว้าง 3 เมตรขึ้นไป จะต้องปาดมุมรั้วด้านละ 4 เมตร เพื่อไม่ให้รั้วบ้านหรือกำแพงบดบังทัศนวิสัยการมองเห็นของผู้ขับขี่รถยนต์
6. สร้างบ้านชิดรั้วบ้านได้ แต่ผนังบ้านและรั้วต้องปิดทึบ กรณีที่สร้างบ้านหากมีการต่อเติมบ้านจนทำให้พื้นที่บ้านต้องชิดรั้วบ้าน สามารถชิดได้แต่ต้องได้รับการยินยอมจากเพื่อนบ้านเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เพื่อลดข้อพิพาทในอนาคตควรเว้นระยะห่างตัวบ้านจากรั้วบ้านหรือแนวที่ดิน ไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร แต่ยังคงต้องเป็นผนังทึบเช่นเดิม
7. ห้ามล้ำพื้นที่สาธารณะ ตัวบ้านต้องมีระยะห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะอย่างน้อย 3 เมตรโดยวัดจากกึ่งกลางถนนสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 6 เมตร รวมถึงจะต้องไม่ล้ำเขตพื้นที่ดินผู้อื่นด้วย
ทำไมต้องมีระยะร่นและที่เว้นว่าง?
1) เพื่อความปลอดภัยด้านอัคคีภัย กฎหมายระยะร่นอาคารนั้นมีความสำคัญมากเมื่อเกิดอัคคีภัย เพราะระยะร่นอาคาร และที่เว้นว่างรอบอาคารยังทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถดับเพลิงได้จากรอบด้าน และยังลดโอกาสที่ไฟจะลุกลามไปยังอาคารที่อยู่ใกล้เคียงกันอีกด้วย
2) เพื่อสุขอนามัยของผู้อยู่อาศัย ระยะร่นอาคาร ที่ไม่ติดกันจนเกินไป จะช่วยป้องกันการรบกวนกันระหว่างผู้อยู่อาศัยได้ส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเสียง แสง กลิ่น และความเป็นส่วนตัว รวมถึงสัตว์รบกวนก็จะเดินทางระหว่างอาคารได้ยากขึ้น การมีช่องว่างระหว่างอาคารยังช่วยทำให้อากาศถ่ายเทได้ดีขึ้นอีกด้วย
3) เพื่อการก่อสร้างและซ่อมแซมอาคาร หากมีการซ่อมแซมหรือต่อเติมบ้าน ระยะร่นอาคาร และที่เว้นว่างของอาคารจะไม่สร้างความรำคาญแก่เพื่อนบ้าน และยังสามารถทำได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวางนั่งร้าน ติดตั้งรางระบายน้ำ การฉาบปูน หรือทาสีบ้าน
เรื่องกฎหมายข้อบังคับเรื่องระยะห่าง ที่เว้นว่าง เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจตั้งแต่ออกแบบบ้าน ซึ่งโดยส่วนใหญ่หากเป็นการสร้างบ้านผ่านบริษัทรับสร้างบ้านที่ดูแลตั้งแต่ออกแบบบ้านไปจนขออนุญาตก็ช่วยลดปัญหายุ่งยากไปได้เลย เพราะหากเปรียบเทียบความเสียหายจากการรื้อถอนคงเข้าทำนองสร้างบ้านเท่ากับบานแน่นอน จึงเป็นอีกเรื่องที่คนสร้างบ้านไม่ควรละเลยอย่างยิ่งค่ะ