หลายๆ คน เมื่อบ้านสร้างเสร็จและได้เข้าอยู่อาศัยจริงแล้ว ก็ต้องการจะปรับเปลี่ยนมุมต่างๆ ให้สะดวกลงตัวสำหรับการใช้สอย หรือต้องการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้มากขึ้น หรือต้องการให้บ้านสวยงามมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการต่อเติมส่วนต่างๆ เช่น ต่อโรงรถ ต่อครัว ต่อชายคา แต่ทราบหรือไม่ว่า การต่อเติมบ้านนี้มีทั้งส่วนที่ต้องทำตามกฎหมายกำหนด ต้องขออนุญาตก่อนต่อเติม และส่วนที่สามารถต่อเติมได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพราะไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารซึ่งจะมีส่วนไหนบ้าง และต้องอิงตามแบบบ้านหรือไม่ ไปติดตามกัน
ต่อเติมแบบไหน ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารตามที่กฎหมายกำหนด?
กฎหมายพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องการดัดแปลง หรือต่อเติมอาคาร การต่อเติมบ้านหรือจะปรับบ้านใหม่โดยการเพิ่มพื้นที่ หรือทุบบางพื้นที่ในบ้านทิ้งไป ไม่สามารถทำตามอำเภอใจได้ แต่จำเป็นต้องยื่นเรื่องขออนุญาตกับทางเขต หรือองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาล ในพื้นที่ด้วย เพื่อให้การก่อสร้างต่างๆ เป็นไปอย่างปลอดภัย และไม่เบียดเบียนเพื่อนบ้านหรือพื้นที่ส่วนรวม ซึ่งมีขั้นตอนและระยะเวลาในการขออนุญาตพอสมควร แต่ยังมีข้อยกเว้นที่สามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต คือ
1. การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารโดยใช้วัสดุขนาด จำนวน และชนิดเดียวกับแบบบ้านของเดิม เว้นแต่การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง หรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ
หมายถึง การเปลี่ยนโครงสร้างบ้าน เช่น เสา คาน พื้น โครงหลังคา และส่วนอื่นที่นับเป็นงานโครงสร้างทั้งหมดที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง เรียกว่า บ้านปูน หรือบ้านที่ทำมาจากโครงสร้างเหล็ก จำเป็นต้องขออนุญาตทั้งหมด
ส่วนแบบบ้านที่ทำมาจาก โครงสร้างไม้ สามารถเปลี่ยนเป็นไม้ใหม่ได้ โดยต้องมีขนาด จำนวน และชนิดเดียวกันกับของเดิม เช่น บ้านไม้สัก ต้องการเปลี่ยนเสาบ้าน ซึ่งเป็นเสาไม้สักขนาด 30 x 30 ซม. จำนวน 4 ต้น หากเปลี่ยนเป็นไม้สักขนาดและจำนวนเท่าเดิม ไม่ต้องขออนุญาต
2. การเปลี่ยนส่วนต่างๆ ของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร โดยใช้วัสดุชนิดเดียวกับแบบบ้านของเดิม หรือวัสดุชนิดอื่นซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละสิบ
หมายถึง การปรับเปลี่ยนส่วนที่ไม่ใช่งานโครงสร้างบ้าน เช่น ผนัง ฝ้าเพดาน ประตู หน้าต่าง สามารถปรับเปลี่ยนได้แต่ต้องใช้วัสดุเดิม หากจะใช้วัสดุอื่นทดแทน ต้องเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักน้อยกว่าหรือเท่ากันกับวัสดุเดิม เช่น เดิมเป็นผนังก่ออิฐมอญแดง ต้องการทุบแล้วก่อใหม่ หากใช้วัสดุอิฐมอญแดงเหมือนเดิม หรือเป็นอิฐมวลเบา หรือ Smart Board บุฉนวนกันความร้อน สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเพราะอิฐมวลเบา หรือ Smart Board มีน้ำหนักน้อยกว่าอิฐมอญแดง ซึ่งหากจะให้การดำเนินการเป็นไปอย่างปลอดภัย ควรปรึกษาบริษัทรับสร้างบ้าน
3. การเปลี่ยนแปลง การต่อเติม การเพิ่ม การลด หรือการขยายซึ่งลักษณะ ขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ของส่วนต่างๆ ของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคารซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละสิบ
หมายถึง การปรับเปลี่ยนที่ไม่ใช่งานโครงสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเป็นงานต่อเติมขยายพื้นที่ หรืองานทุบลดพื้นที่ ถ้าเราแยกโครงสร้างการต่อเติมจากโครงสร้างหลักของบ้านก็สามารถทำได้ เพราะไม่ไปเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้างเดิม เช่น ปูกระเบื้องลานซักล้างเพิ่ม ก่อเคาน์เตอร์ครัวเพิ่มภายในบ้าน หากน้ำหนักไม่เกิน 10% ของโครงสร้าง (ซึ่งส่วนมากมักไม่เกิน 10% ของโครงสร้างบ้านส่วนใดส่วนหนึ่งอยู่แล้ว) ก็สามารถทำได้เลยไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้บริษัทรับสร้างบ้านอาจให้คำแนะนำหรือช่วยดำเนินการได้ดีที่สุด
4. การลดหรือการขยายเนื้อที่ของพื้นชั้นหนึ่งชั้นใด ให้มีเนื้อที่น้อยลงหรือมากขึ้นรวมกันไม่เกินห้าตารางเมตร โดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคาน
หมายถึง สามารถเพิ่มหรือลดพื้นที่ชั้น 1 หรือ ชั้น 2 ของบ้านได้ไม่เกิน 5 ตารางเมตร โดยไม่ลดหรือเพิ่มส่วนของเสาหรือคาน เพื่อรับน้ำหนักโครงสร้างเพิ่ม หากต่อเติมไม่เกินนี้ ไม่ต้องขออนุญาต
5. การลดหรือการขยายเนื้อที่ของหลังคา ให้มีเนื้อที่มากขึ้นรวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร โดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคานจากแบบบ้านเดิม
หมายถึง เพิ่มหรือลดหลังคาของบ้านได้ไม่เกิน 5 ตารางเมตร เช่น การต่อเติมหลังคาหลังบ้านหรือที่จอดรถในรูปแบบโครงหลังคาที่ยึดติดกับคานของโครงสร้างบ้านเดิม โดยไม่มีคานและเสามารับน้ำหนักเพิ่มด้วย รูปแบบนี้ไม่ต้องขออนุญาต
6. การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารอยู่อาศัยที่มีขนาดพื้นที่ติดตั้งไม่เกิน 160 ตารางเมตร และมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร โดยต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่กระทำและรับรองโดยวิศวกรโยธาตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรว่าสามารถติดตั้งได้อย่างปลอดภัย และแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบก่อนดำเนินการ
หมายถึง สามารถติดตั้งแผง Solar Cell ได้บนหลังคาบ้าน โดยต้องมีขนาดไม่เกิน 160 ตารางเมตร และมีน้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ตารางเมตร โดยต้องให้วิศวกรเป็นผู้เซ็นรับรองความปลอดภัยของโครงสร้าง ส่งให้เจ้าหน้าที่เขต หรือองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลนั้นๆ รับทราบ ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าพนักงาน
รู้อย่างนี้แล้ว ท่านที่วางแผนจะต่อเติมดัดแปลงบ้าน ลองพิจารณาดูว่า ขอบเขตงานของบ้านเราต้องทำเรื่องขออนุญาตหรือไม่ หากไม่มั่นใจสามารถปรึกษากับบริษัทรับสร้างบ้าน ที่เป็นมืออาชีพและได้มาตรฐาน กระบวนการขออนุญาต หรือการต่อเติมต่างๆ จะไม่สร้างความปวดหัวให้เจ้าของบ้านอย่างแน่นอน