การสร้างบ้านหลังหนึ่งประกอบไปด้วยโครงสร้างและระบบหลายส่วน โดยเฉพาะระบบไฟซึ่งก็ถือเป็นระบบหลักที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะหากมีความผิดพลาดย่อมตามมาด้วยอันตรายและความเสียหายมากมาย โดยปัญหาหลักของระบบไฟที่พบได้บ่อย คือ ไฟรั่ว ไฟช็อต ไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเกิดจากสายไฟฟ้าชำรุด การวางระบบไฟฟ้าไม่ดี การติดตั้งอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือผิดวิธี ดังนั้นควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า และการเดินระบบไฟภายในบ้าน เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน
วิธีเดินระบบไฟฟ้าให้ปลอดภัย
1. ออกแบบระบบไฟแยกการควบคุมออกจากกัน
ก่อนเริ่มเดินระบบไฟต้องมีการจัดวางผังก่อน โดยพิจารณาจากความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของคนในบ้าน หลักการทั่วไปคือแยกระหว่างระบบไฟฟ้าส่วนต่างๆ เช่น ไฟฟ้าให้แสงสว่าง ไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศ ไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ปรุงอาหาร ไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสร้างความบันเทิง
จากนั้นออกแบบเขียนแปลนให้มีการเดินสายไฟฟ้าและคัตเอาท์ควบคุมแยกออกจากกัน และแยกการควบคุมระบบไฟฟ้าในแต่ละชั้นด้วย เพราะมีข้อดีคือเมื่อใช้งานจริงจะสะดวกในการบริหารจัดการไฟฟ้า การซ่อมแซมปรับเปลี่ยนต่างๆ เพราะสามารถตัดไฟเฉพาะพื้นที่ได้
2. ต่อสายดินเพื่อความปลอดภัย
ต้องมีสายดินเพื่อเป็นทางให้กระแสไฟฟ้าที่อาจจะรั่วไหลออกมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านั้นไหลลงสู่ดิน โดยผ่านทางสายดินที่ได้ต่อไว้ แทนที่จะไหลผ่านตัวผู้ใช้งานหรือผู้ที่ไปสัมผัสเพื่อป้องกันไฟรั่ว การต่อสายดินใช้สายไฟฟ้าต่อกับโครงสร้างส่วนที่เป็นโลหะของอุปกรณ์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ
3. ติดตั้งสวิตช์ตัดวงจรอัตโนมัติ
เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัยในบ้าน ควรติดตั้งสวิตช์ตัดวงจรอัตโนมัติ ซึ่งจะทำหน้าที่ตัดวงจรไฟฟ้าได้ทันทีที่มีกระแสไฟฟ้ารั่วไหล โดยปกติกระแสไฟฟ้าจะไหลในสายไฟทั้ง 2 สายเท่ากัน แต่เมื่อเกิดการรั่วไหลลงดินโดยผ่านร่างกายหรือผ่านตัวนำอื่นๆ กระแสไฟฟ้าที่ไหลในสายไฟจะไม่เท่ากัน อุปกรณ์ตรวจสอบการรั่วของกระแสไฟฟ้าจะส่งสัญญาณไปยังสวิตช์อัตโนมัติ เพื่อตัดวงจรทันทีก่อนที่จะมีผู้ได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้า แม้ว่าอุปกรณ์ชนิดนี้มีราคาแพงสักหน่อย แต่เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
4. ดินสายไฟแบบร้อยท่อต้องใช้วัสดุคุณภาพสูง
บ้านสมัยใหม่มักนิยมเดินสายไฟร้อยท่อฝังผนัง หรือเหนือเพดานเพื่อความสวยงาม สบายตา ซึ่งหากเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟไม่ว่าจากการใช้วัสดุที่มีไม่ได้มาตรฐานเหมาะสมกับการเดินสายร้อยท่อ หรือการติดตั้งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อต้องแก้ไขก็จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากเพิ่มขึ้น เพราะต้องเจาะผนังก่อนหาท่อสายไฟก่อน ดังนั้นจึงควรใช้วัสดุมาตรฐานเหมาะสมในการเดินสายไฟฟ้าแบบร้อยท่อฝังผนัง เพื่อป้องกันปัญหายุ่งยากและไม่ปลอดภัยในอนาคต
คำแนะนำการวางระบบไฟฟ้าเพิ่มเติม
1. การติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ปลั๊กหรือสวิตช์ด้านนอกบ้านที่มีโอกาสสัมผัสกับน้ำ ความชื้น หรือละอองฝน จะต้องติดตั้งชนิดมีฝาปิดกันน้ำเสมอเพื่อความปลอดภัย
2. การเดินสายไฟฝังในผนังจะต้องร้อยท่อเสมอ สามารถเลือกใช้ได้ทั้งท่อที่ทำจาก EMT หรือท่อ PVC ตามแต่งบประมาณของแต่ละหลัง
3. สายไฟฟ้าที่อยู่บนฝ้าเพดานจะต้องร้อยท่ออ่อนเสมอ เพื่อป้องกันหนูที่มักมากัดสายไฟ รวมถึงปกป้องสายไฟจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงบนฝ้าเพดานทั้งความร้อนความชื้น การร้อยท่อจะช่วยยืดอายุการใช้งานของสายไฟให้ยาวนานขึ้น
4. การติดตั้งระบบไฟฟ้าต้องเลือกบริษัทรับสร้างบ้าน ที่มีมาตรฐาน มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และไว้ใจได้ เนื่องจากเป็นระบบที่เกี่ยวพันกับความปลอดภัยของสมาชิกภายในบ้าน
5. เมื่อพบปัญหาเกี่ยวกับสายไฟฟ้าหรือระบบไฟเริ่มเสื่อมสภาพ หากเจ้าของบ้านไม่ได้มีความรู้เฉพาะทางด้านไฟฟ้า ไม่ควรซ่อมแซมเอง ควรเรียกใช้บริการช่างไฟฟ้า หรือบริษัทรับสร้างบ้านที่ดูแลงานสร้างบ้านของเรา จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด และปลอดภัยทั้งต่อตนเองและตัวบ้าน
การสร้างบ้านสักหลัก นอกจากความสวยงาม และประโยชน์ใช้สอยตรงตามความต้องการแล้ว ความปลอดภัยก็มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน ดังนั้นบริษัทรับสร้างบ้านที่จะมารับผิดชอบบ้านทั้งหลัง ต้องเลือกที่ผลงานคุณภาพ มีมาตรฐาน คัดสรรวัสดุที่ดี ติดตั้งได้มาตรฐานและถูกต้อง ทำงานเสร็จตามเวลา และหากมีบริการครบวงจรตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง และขออนุญาตในขั้นตอนต่างๆ ก็จะทำให้เจ้าของบ้านมั่นใจได้ว่า บ้านของเราจะเป็นบ้านที่มีคุณภาพของงานที่ดีที่สุด