แม้จะเป็นเพียงที่จอดรถ แต่เรื่องความปลอดภัยก็ยังถือเป็นข้อสำคัญไม่แพ้กับการสร้างตัวบ้านส่วนหลักๆ เลย โดยทางเลือกในการออกแบบบ้านและสร้างที่จอดรถมีทั้งก่อสร้างพร้อมตัวบ้าน และการเว้นเพื่อการสร้างในอนาคต แต่ถึงจะเป็นการเว้นไว้เพื่อสร้างในอนาคตก็ยังคงต้องมีการวางแผน เตรียมพื้นที่เพื่อรองรับการจอดและน้ำหนักในอนาคตอยู่ดี ฉะนั้นหลายๆ บ้านจึงนิยมสร้างโรงรถให้จบไปพร้อมๆ กับการสร้างบ้านหลักไปเลย ซึ่งมีหลักการที่ต้องรู้เพื่อให้การสร้างที่จอดรถเป็นไปตามมาตรฐาน เหมาะสมกับการใช้งานและความปลอดภัยมาฝากค่ะ
แบบของที่จอดรถและความเหมาะสมในใช้งาน
ก่อนจะไปถึงหลักการที่เหมาะสมเรื่องการใช้งาน ต้องมาดูแปลนของการออกแบบบ้านในฝัน และพื้นที่ของบ้านเบื้องต้นก่อนสร้างบ้านเพื่อวางแผนโครงสร้างที่มีความปลอดภัย โดยแบบของที่จอดรถหากมีพื้นที่น้อยจะออกแบบให้อยู่ใต้ถุนบ้าน หรือ ใต้อาคาร และที่จอดรถที่มีพื้นที่กว้างจะถูกออกแบบให้เป็นโครงสร้างแยก ดังนี้
1. ที่จอดรถแบบใต้ถุนบ้าน หรือใต้อาคาร
เป็นแบบของที่จอดรถที่มักจะมีข้อจำกัดของบ้านในเรื่องขนาดและพื้นที่ โดยส่วนมากจะถูกชี้ตำแหน่งไว้หน้าบ้านไปโดยปริยาย เรียกว่าแปลงที่จอดรถเป็นมุมกิจกรรม มุมรับแขกแบบ Out door ไปจนถึงเป็นพื้นที่งานช่าง เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ All in one เลยก็ว่าได้
ข้อดีของที่จอดรถใต้ถุนของบ้านคือ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และตำแหน่งที่สะดวก เพราะมักอยู่ใกล้ทางเข้า-ออกบ้าน
ข้อเสียคือ การใช้โครงสร้างเดียวกันกับตัวบ้าน เมื่อใช้งานเป็นระยะเวลานาน และต้องรับน้ำหนักมากๆ อาจมีการชำรุดพื้นทรุด ควรหมั่นปรับปรุงพื้นที่ การวางแปลนบ้านจึงควรออกแบบงานก่อสร้างบ้านเพื่อรองรับน้ำหนักรถบริเวณนี้ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กหรือหินแกรนิต
2. ที่จอดรถแบบต่อเติมหลังคา
ที่จอดรถแบบนี้จะเป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากตัวบ้าน โดยต่อเติมเฉพาะหลังคาและโครงสร้างบนตำแหน่งทางเข้า-ออก คล้ายแบบโรงจอดใต้อาคาร แต่ต่างกันตรงที่ต้องให้ความสำคัญกับการเลือกหลังคาแทน โดยวัสดุทำหลังคาที่จอดรถ ต้องคำนึงถึงเรื่อง ความร้อน ความแข็งแรง กันเสียง ความโปร่งแสง และน้ำหนัก ซึ่งมีหลากหลายวัสดุให้เลือกมากมายขึ้นอยู่กับดีไซน์ของบ้านและงบประมาณที่สะดวก ส่วนข้อเสียที่ต้องคำนึงก็คือ ต้องแยกโครงสร้าง แม้จะเป็นพื้นที่ต่อเนื่อง เพราะการรับน้ำหนักหลังคาและน้ำหนักของรถ เมื่อพื้นทรุดอาจรั้งโครงสร้างหลักให้เสียหายไปด้วยได้
3. ที่จอดรถแบบโครงสร้างแยก
เป็นแบบที่เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่ขนาดกว้าง ขนาดของที่จอดรถจะเล็กหรือใหญ่ จะสัมพันธ์กับสมาชิกในบ้าน หรือหากเป็นบ้านที่มีแขกแวะเวียนมาตลอด ขนาดก็จะใหญ่ตามการใช้งาน ส่วนใหญ่ตำแหน่งของโรงรถโครงสร้างนี้มักจะอยู่ด้านข้าง หรือด้านหน้า
ข้อดีของการสร้างที่จอดรถแบบโครงสร้างแยกก็คือ เมื่อผ่านการใช้งานนาน หากพื้นทรุดจะไม่รั้งน้ำหนักของโครงสร้างที่ตัวบ้านหลัก
ข้อเสียคือ เป็นการก่อสร้างใหม่ ต้องปรับพื้นที่และคำนวณวัสดุให้พร้อมเพื่อรองรับการใช้งาน ถือว่าเป็นงบอีกก้อนที่ต้องกันไว้โดยเฉพาะ ซึ่งการออกแบบบ้าน ที่จอดรถ ดีไซน์ การตกแต่ง วัสดุปูพื้น ก็จะสะท้อนความเป็นสไตล์ของบ้านและบ่งบอกความทันสมัย ความใส่ใจต่อรถหรูของบ้านนั้นๆ ได้
เรื่องสำคัญต้องรู้! หลักการออกแบบที่จอดรถให้ความปลอดภัย เหมาะกับการใช้งาน
หลักการการออกแบบบ้านเพื่อสร้างที่จอดรถ โดยสรุปเป็นเรื่องหลักๆ ที่ต้องคำนึงมี 3 อย่างดังนี้
1. พื้นที่ ต้องมีการปรับพื้นที่ให้เหมาะกับขนาดและน้ำหนักรถ โดยเฉพาะรถหนึ่งคัน หนัก 1,000 กิโลกรัม พื้นควรสร้างเสริมด้วยเหล็กและสามารถรับแรงกดทับ แรงสะเทือน การเข้า-ออก ทุกวันได้
2. ขนาด โดยเฉลี่ยแล้วรถยนต์มีขนาด 5×5.0 เมตร/คัน ควรคำนวณขนาดให้เหมาะสมกับจำนวนสมาชิกที่ใช้รถ รวมถึงแขกที่มาแวะเวียนด้วย
3. ตำแหน่ง ต้องวางไว้อย่างเหมาะสม เพื่อความสะดวกในการใช้งาน การเช็ดล้าง ทำความสะอาด การเข้า-ออก ในยามฉุกเฉิน รวมถึงการถ่ายเทและทิศทางของแดดเพื่อถนอมการใช้งานของรถ
แม้จะเป็นเพียงที่จอดรถ ถึงจะไม่ได้อยู่อาศัยใช้งานตลอดเวลา แต่ก็จำเป็นต้องมี เพราะนอกจากจะจัดระเบียบพื้นที่ใช้สอยของบ้านให้เป็นสัดส่วน เสริมภาพลักษณ์ของบ้าน รักษาสภาพของรถยนต์แล้ว การมีที่จอดรถยังเป็นการไม่รบกวนการใช้พื้นที่สาธารณะ ซึ่งหากละเลยจุดนี้ไป อาจส่งผลระยะยาวต่อเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นปัญหาบานปลายได้ในอนาคต โดยหากเจ้าของบ้านได้วางแผนการใช้งานรถไว้ก่อนแล้ว ก็สามารถแจ้งบริษัทรับสร้างบ้านที่ดูแลเรื่องการสร้างบ้าน ให้ออกแบบพื้นที่เผื่อไว้สำหรับที่จอดรถ ซึ่งจะทำให้เกิดการจัดสรรพื้นที่อย่างลงตัว และปลอดภัย